(เพิ่มเติม) บี.กริม เพาเวอร์ ซื้อกิจการโรงไฟฟ้า 163 MW จากกลุ่ม"ไซม์ ดาร์บี้"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 16, 2014 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ธุรกิจพลังงานชั้นนำของประเทศไทย ได้เข้าซื้อโรงไฟฟ้า 2 แห่ง จาก บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ พีทีอี เอนเนอร์จี จำกัด (Siam Darby Energy Pte. Ltd.) บริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานจากประเทศมาเลเซีย มูลค่า 5.3 พันล้านบาท จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ บี.กริม เพาเวอร์ ขึ้นอีก 163 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 733 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 896 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมมากกว่า 2,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 62

ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ และ ไซม์ ดาร์บี้ เอนเนอร์จี ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายโรงไฟฟ้าดังกล่าว ณ วันที่ 16 มิ.ย.57

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้สอดคล้องกับแผนธุรกิจของบริษัทที่จะขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP Cogeneration) อันดับต้นของประเทศไทย ซึ่งโรงไฟฟ้าที่ทาง บี.กริม มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีลูกค้าอุตสาหกรรมเข้าซื้อไฟฟ้าและไอน้ำจนเต็มกำลังการผลิตไฟฟ้า(Full Capacity)นับตั้งแต่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของแต่ละโรงไฟฟ้า โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและจำหน่ายไฟฟ้ารวมทั้งไอน้ำให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการอยู่จำนวน 6 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 733 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงไฟฟ้าอีก 4 โรงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างรวมกำลังผลิต 480 เมกะวัตต์ และอีก 6 โครงการที่มีกำลังผลิตรวม 720 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มสร้างในปี 57 เป็นต้นไป ทั้งนี้ บี.กริม เพาเวอร์ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า SPP 16 โรง กำลังผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นรายใหญ่ของผู้ผลิต SPP

นายฮาราลด์ กล่าวอีกว่า บริษัทได้ต้งเป้าจะมีกำลังการผลิตเพิ่มมาเป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในส่วนเพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 3 พันล้านเหรียญ ดังนั้นบริษัท บี.กริม เพาเวอร์จึงมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 59 เพื่อระดมทุนขยายกิจการโรงไฟฟ้าตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ บริษัทจะแสวงหากำลังการผลิตใหม่จากการเข้าไปร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้สูง โดยล่าสุดบริษัทได้เข้ารอบในโครงการ Myingyan ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งมีกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ คาดว่าจะทราบผลประมูลในเดือนก.ย.นี้ นอกจากนี้บริษัทจับมือกับซูมิตโตโม เข้าดำเนินโรงไฟฟ้าก๊าซขนาด 40 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมทิวาลา

นอกจากนี้ ยังจะเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอื่น และสนใจเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) ในญี่ปุ่น รวมทั่งโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในนอร์เวย์ ที่มีขนาด 1-20 เมกะวัตต์ต่อโครงการ

"เราได้สัมปทาน SPP มา 2 พันเมกะวัตต์ และที่ซื้อจากไซม์ดารบี้ 168 เมกะวัตต์ และพลังงานลมที่มุกดาหาร 16 เมกะวัตต์ ตอนนี้เราได้ 2,200 เมกะวัตต์แน่นอน"ประธาน บี.กริม เพาเวอร์ กล่าว

สำหรับรายได้ของกลุ่ม บี.กริม ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 35% จากปีก่อน โดยมาจากธุรกิจไฟฟ้าอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% และอีก 1 หมื่นล้านบาทจากธุรกิจอื่น ส่วนกำไรเท่ากับ 8%ของรายได้

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวเสริมว่า ภายหลังจากที่มีการเข้าควบรวมกิจการ โดยการซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ เพาเวอร์ จำกัด (SDPC) บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ แอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (SDLP) และ บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ โอ แอนด์ เอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด (SOMT) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ เอนเนอจี จำกัด (Sime Darby Energy Pte. Ltd.) จะทำให้ บี.กริม เพาเวอร์ มีรายได้เติบโตขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมว่าจะมีรายได้รวมในปี 57 อยู่ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 23,200 ล้านบาท และมีโรงไฟฟ้าที่เปิดให้ดำเนินการแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8 โรง กำลังการผลิตรวม 896 เมกะวัตต์ ส่วนกำไรจะเข้ามาเพิ่มอีก 220 ล้านบาทต่อปี ทำให้กำไรปีนี้เพิ่มเป็น 1,520 ล้านบาท

การซื้อโรงไฟฟ้า 2 แห่งจากไซม์ ดาร์บี้ฯ จำนวน 5.3 พันล้านบาท จะใช้เงินกู้ Brigde Loan ทั้งจำนวนซึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น 1 ปี และคาดว่าปลายปีนี้จะสามารถหาเงินกู้ลักษณะ Project Finance โดยจะใช้เงินกู้ 3 ต่อ 1 ส่วนที่มาจากส่วนของทุน

ดาโต๊ะ เจาฮารี ฮามีดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ไซม์ ดาร์บี้ เปิดเผยว่า การขายโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงของกลุ่มไซม์ ดาร์บี้ ไม่ได้เป็นการถอนเงินลงทุนออกจากประเทศไทย แต่เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจ เพื่อเน้นธุรกิจหลักตามการปรับกลยุทธ์ของบริษัท การขายโรงไฟฟ้าดังกล่าวให้กับ บี.กิรม เพาเวอร์ จะเป็นการปูทางสื่อการทำธุรกิจในอนาคตร่วมกันต่อไป

ปัจจุบันธุรกิจของ ไซม์ ดาร์บี้ ในประเทศไทยที่นอกเหนือไปจากกลุ่มพลังงานนั้นประกอบด้วย น้ำมันพืชมรกต ธุรกิจปาล์ม และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย อาทิ ฟอร์ด มาสด้า และ บีเอ็มดับบลิว เป็นต้น

นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บี.กริม เพาเวอร์ เปิดเผยว่า การเข้าซื้อโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรง ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำจุดแข็งของ บี.กริม ในการขยายฐานการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่ดีจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในการขยายฐานการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยทางธนาคารมั่นใจว่าจะใช้เครือข่ายเข้าไปสนับสนุนแผนการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของ บี.กริม เพาเวอร์ ในอนาคตอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ