คดีนี้สืบเนื่องจากระหว่างวันที่ 2 มิ.ย.-1 ต.ค.41 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 กับพวกได้วางแผนแบ่งหน้าที่กัน โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะประธาน ปรส.ปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่โปร่งใสและมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะอดีตเลขาธิการ ปรส. โดย ปรส.เข้าทำสัญญาซื้อขายเพื่อประโยชน์ทางภาษีอากร การกระทำของจำเลยทั้งหมดก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และ ปรส.กรณีไม่เรียกเก็บเงินงวดแรกในการขายสินทรัพย์ให้กับบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ จำเลยที่ 3 จำนวน 2,304 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ก.ย.55 ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดจริงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 เคยเป็นอดีต รมว.พาณิชย์ และจำเลยที่ 2 เคยดำรงตำแหน่งเป็นอดีตประธานอนุกรรมการกลั่นกรองวางแผนการฟื้นฟูให้กับสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นการทำคุณให้กับประเทศชาติ ประกอบจำเลยทั้ง 2 คนมีอายุมากแล้วจึงเห็นสมควรให้กลับตัวกลับใจ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 3 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 1 ปี โดยต้องรายงานตัว 3 ครั้งต่อ 1 เดือน พร้อมบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ส่วนจำเลยที่ 3 ถึง 6 ศาลเห็นว่าไม่มีพยาน หลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงพิพากษายกฟ้อง
ซึ่งต่อมา นายอมเรศ จำเลยที่ 1 และนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์สู้คดี และวันนี้ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง หลังศาลตรวจสำนวนแล้วประชุมวิเคราะห์ว่า คำอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 2 ฟังขึ้น ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 2 ส่วนจำเลยที่เหลือให้ยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
นายอมเรศ เปิดเผยว่า คดีนี้ได้อุทธรณ์ในประเด็นการขายสินทรัพย์ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานราชการ ส่วนสินทรัพย์ที่ขายไปเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีค่าแล้ว ซึ่งจะขายให้เท่าราคาทุนเป็นไปไม่ได้ และยืนยันว่าขณะนั้นไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซง