ก.เกษตรฯ แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจัดทำแผนบริหารนมโรงเรียน-แบ่งโควตานม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 17, 2014 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจิราวรรณ แย้มประยูร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจศึกษาและจัดทำแผนบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อจัดทำรายละเอียดและแนวทางการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนในภาพรวม ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยรวมประเด็นคุณภาพและราคา ตามที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย

โดยมีข้อสังเกต คือ 1.ให้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมพิจารณาเกณฑ์การจัดสรรสิทธิในการจำหน่ายนมโรงเรียนให้เหมาะสม และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นธรรม รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวเป็นระยะจากหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นกลาง เพื่อให้ทราบผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนปัญหาอุปสรรค 2.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ไปพิจารณาดำเนินการทบทวนยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ.2557 – 2559 และเร่งจัดทำแผนบริหารจัดการนมโรงเรียนในระยะยาว โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาการจัดสรรโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2557 งวดที่ 2 ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดสรรโควตาและอัตราภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนย มีมติเห็นชอบ คือ 1.ให้บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้รับการถ่ายโอนกิจการจากบริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟู้ดส์ จำกัด มาใช้ในการขอโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย 2.เห็นชอบแนวทางการจัดสรรโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2557 งวดที่ 2 ที่เหลือ โดยผู้ประกอบการที่จะได้รับการจัดสรรโควตาต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้ขอหนังสือรับรองการนำเข้านมผงขาดมันเนย ที่ได้รับในงวดที่ 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และใช้ปริมาณการขอหนังสือรับรองในงวดที่ 1 เป็นเกณฑ์ในการเสนอขอในงวดที่ 2 ที่เหลือ ซึ่งมีปริมาณ 3,094.25 ตัน และ 3.สำหรับโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยที่ผู้ประกอบการเสนอขอซึ่งเกินจากโควตาที่มีจำนวน 15,677.25 ตัน ให้เสนอคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมพิจารณา

ทั้งนี้ จากมติคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบให้เปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2557 เพิ่มเติม ปริมาณ 23,000 ตัน โดยเป็นโควตาเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์นม 13,000 ตัน และเป็นโควตาเพิ่มเติมสำหรับการทำตลาดรองรับการเปิดตลาด AEC 10,000 ตัน หากมีความต้องการเพิ่มเติมจะนำเสนอคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมพิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ