ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เกิดจากผู้ประกอบการเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย หลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย การทยอยจ่ายเงินจากโครงการจำนำข้าวให้กับเกษตรกร ส่งผลดีให้เกิดกระแสการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังเป็นทิศทางที่ดีที่ผู้ประกอบการเห็นว่าจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นโอกาสการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับในเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพิ่มขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.2 ในเดือนเมษายน และดัชนีมีค่าเกิน 100 ในรอบ 5 เดือนโดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนพฤษภาคมนี้ คือ จัดตั้งกองทุนเงินกู้ฉุกเฉินอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดสภาพคล่องโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงปฏิรูปพลังงาน ลดการแทรกแซงราคา โดยใช้กลไกตลาด พร้อมทั้งจัดทำแผนรับมือไฟฟ้าดับจากการปิดซ่อมท่อก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย อีกทั้งเร่งเจรจา FTA Thai – EU เพื่อรองรับการหมดอายุสิทธิ GSP และแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง