นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ กนง. กล่าวว่า คณะกรรมการ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อไป เนื่องจาก ประเมินว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นหลังสถานการณ์การเมืองได้คลี่คลายลง และการบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการได้ นโยบายการคลังมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจมากข้น ขณะที่นโยบายการเงินยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/57 หดตัวจากอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ในขณะที่การส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้าไม่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้
ในระยะต่อไป คาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น หลังสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจน แต่ยังมีความเสี่ยงจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่อาจฟื้นตัวช้า ด้านแรงกดดันเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นบ้าง
ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลัก
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ประชุม กนง.ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวขึ้นชัดเจนหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองได้คลี่คลายลง โดยที่ผ่านมาการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากเดือนมี.ค.ที่ กนง.ประเมินว่า GDP ปีนี้จะโตได้ร้อยละ 2.7 แต่หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/57 อย่างเป็นทางการซึ่งลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงทำให้ กนง.ต้องปรับลดประมาณการ GDP ในปีนี้ลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเริ่มเห็นความชัดเจนได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/57 ทำให้คาดว่าทั้งปี GDP จะโตได้ร้อยละ 1.5 ซึ่งธปท.จะแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 27 มิ.ย.นี้
"GDP ทั้งปีที่คาดว่าจะโตได้ 1.5% นั้นอาจจะดูน้อย แต่เทียบกับครึ่งปีแรกที่โดยรวมแล้วติดลบต่อกัน 2 ไตรมาส โดยคาดว่าครึ่งปีแรก GDP จะขยายตัวติดลบ 0.5% ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาคการคลังที่สามารถกลับมาทำงานได้ปกติ ความชัดเจนเรื่องการดำเนินนโยบายของภาครัฐ และกลไกการบริหารนโยบายเศรษฐกิจด้านต่างๆ ที่สามารถกลับมาดำเนินงานได้เป็นปกติ ทำให้เอกชนมีความเชื่อมั่น ดังนั้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกน่าจะโตได้ 3.4-3.5%" นายไพบูลย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2 ถือว่าเป็นระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว และน่าจะเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า โดยคาดว่าในปี 58 GDP น่าจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 5 จากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 4.8
สำหรับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ นายไพบูลย์ ยอมรับว่า อัตราเงินเฟ้ออาจจะปรับขึ้นบ้างแต่ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะยังไม่เห็นการส่งผ่านไปยังราคาสินค้าอื่นๆ มากนัก โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานควรอยู่กึ่งกลางของเป้าหมายนโยบายการเงิน
ทั้งนี้ กนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า จึงอาจจะมีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศให้ปรับตัวขึ้นบ้าง ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยธปท.สามารถกำกับดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนได้ค่อนข้างดี ทั้งความผันผวนและอยู่ในระดับที่เหมาะสมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคธุรกิจ โดยความเคลื่อนไหวทั้งในตลาดหุ้น, ตลาดพันธบัตร และอัตราแลกเปลี่ยนยังมีเสถียรภาพดี
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพื่อสนุบสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว