ทั้งนี้ การชดเชยปัจจัยการผลิตดังกล่าว จะไม่จ่ายชดเชยเป็นตัวเงิน แต่จะเน้นการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะมีการนำเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พิจารณาในเย็นวันนี้ต่อไป เพื่อให้ทันกับการผลิตข้าวฤดูการใหม่ปีการผลิต 57/58
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ยังได้เตรียมปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับชาวนาด้วย และจะมีมาตรากรเสริมในการยกระด้บราคาข้าวเพื่อดูแลราคาข้าวภายในประเทศไม่ให้ตกต่ำจนชาวนาเดือดร้อน ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ยืนยันว่าจะไม่มีการชดเชยเป็นจำนวนเงิน แต่จะเน้นลดต้นทุนการผลิต ซึ่งตัวแทนชาวนาที่เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ต่างแสดงความพึงพอใจ
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัจ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ผู้ผลิตปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนปัจจัยการผลิตต่างๆ ยอมลดราคาลง ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาลดลง 432 บาท/ไร่ จากต้นทุนปัจจุบันที่ 4,787บาท/ไร่ ซึ่งหากรวมค่าชดเชยดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส.ที่ลดลงอีก 3% หรือ 150 บาท/ไร่ ก็จะทำให้ต้นทุนทั้งหมดของชาวนาลดลงรวม 582 บาท/ไร่
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ยังได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยลดดอกเบี้ยลง 3% จากปกติเป็นเวลา 6 เดือน แบ่งเป็น 2 แนวทางให้ คสช.พิจารณา ได้แก่ แนวทางแรกให้สินเชื่อรายละ 50,000 บาท คิดเป็นเงิน 2,292 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ 2 ให้สินเชื่อรายละ 100,000 บาท คิดเป็นเงิน 4,582 ล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช.จะเลือกใช้แนวทางใด
ด้านนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า แนวทางการดูแลราคาข้าวในประเทศของ คสช.เบื้องต้นจะให้ผู้ประกอบการโรงสีและพ่อค้าข้าว รับซื้อข้าวในราคา 8,000-9,000 บาท/ตัน ซึ่งชาวนาพอใจในระดับหนึ่ง แต่อยากให้ คสช.พิจารณาช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวนาโดยแยกเป็น 2 กลุ่ม เพราะกลุ่มที่อยู่นอกเขตชลประทานมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าชาวนาที่อยู่ในเขตชลประทาน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,500-7,000 บาท/ไร่ จึงไม่ควรจะได้รับความช่วยเหลือภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน
พร้อมกันนี้ ชาวนาก็ขอให้คสช.เร่งผลักดันการออกกฎหมายชาวนาที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ในสภาโดยเร็ว เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ของชาวนา เช่นเดียวกับในสหรัฐ และญี่ปุ่น
ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า ได้เสนอต่อที่ประชุมให้ช่วยชดเชยต้นทุนการผลิตแก่ชาวนาเป็นจำนวนเงิน แต่พล.อ.ฉัตรชัย กังวลว่าจะนำเงินไปใช้ผิดประเภท ดังนั้นจึงสรุปเป็นการช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการผลิตแก่ชาวนารายย่อย เพื่อจำกัดไม่ให้งบประมาณบานปลาย ซึ่งชาวนาพอใจที่คสช.ให้ความช่วยเหลือ และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ทันทีเมื่อหัวหน้าคสช.อนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย