ทั้งนี้ ต้องจับตาดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังความเชื่อมั่นเริ่มดีขึ้น ซึ่งความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจะส่งเสริมการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนที่หยุดชะงักไปในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากภาคครัวเรือนยังคงมีภาระหนี้สินในระดับสูง ทำให้การใช้จ่ายบริโภคอาจฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก ขณะที่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ยังคงมีปัญหาด้านการเข้าถึงสินเชื่อ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้ายังฟื้นตัวได้ช้าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุปสงค์สินค้าส่งออกของไทย
พร้อมกันนี้ คาดว่า กนง.จะรอประเมินความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจต้องรอดูพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนสามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดไว้หรือไม่ โดยตัวชี้วัดการบริโภคและการลงทุนของเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจะเริ่มสะท้อนแนวโน้มดังกล่าว ซึ่งหากเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.00% ต่อไป แต่หากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า กนง.อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป