"ระบบ Demand Response เป็นกลไกที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถจัดการการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ระบบจะแจ้งให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารู้ว่าเวลาใดที่ผู้คน ในประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) หรือ ช่วงเวลาใดที่ใช้ไฟฟ้าแล้วจะมีอัตราค่าไฟแพง โดยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหาทางลดการใช้ไฟฟ้าของตนเองลง ซึ่งในแต่ละปีจะมีการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ"
ผอ. สนพ. ยกตัวตัวอย่างกรณี แหล่งก๊าซฯ เจดีเอ A-18 จะหยุดจ่ายก๊าซฯ ระหว่างวันที่ 13 มิ.ย. - 10 ก.ค.2557 (28 วัน) ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะ หายจากระบบทันที 710 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังผลิตในพื้นที่เหลือประมาณ 1,900 เมกะวัตต์ และอาจไม่เพียงพอกับความต้องการแม้จะมีการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปช่วย 700 เมกะวัตต์ ก็ตาม ซึ่งระบบ Demand Response จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไฟตก หรือไฟดับ เพราะผู้ประกอบการสามารถวางแผนเพื่อควบคุมให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้าหรือหยุดใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคได้ทันที ซึ่งจะไม่สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังถือเป็นการวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้า 164,341 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 1.6 ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมถือเป็นสาขาหลักที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ หรือประมาณ 72,536 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอาหารใช้ไฟฟ้าสูงถึง 9,697 กิกะวัตต์ชั่วโมง รองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะพื้นฐาน กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์