"ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังรอผลการพิจารณารายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ปี 57 ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะประกาศในวันที่ 20 มิถุนายน หรือเช้าวันที่ 21 มิถุนายนตามเวลาในไทย แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร กระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงมุ่งแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์แบบบูรณาการ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญ และแสดงความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาของไทย และเพื่อสกัดกั้นผลกระทบทางการค้าที่จะตามมาด้วย" นางศรีรีตน์ กล่าว
ส่วนการรายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย(Worst Forms of Child Labor) ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประเมินสถานการณ์ประเทศต่างๆ ทั่วโลก และไทยติด 1 ใน 10 ประเทศของโลกนั้น ปรากฏว่า การประเมินสถานการณ์ในไทยในปี 55 ที่ประกาศเมื่อปี 56 ไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหามาก คาดว่า การประเมินสถานการณ์ปี 56 และจะประกาศผลในเดือน ก.ย.57 นั้น ไทยน่าจะยังอยู่ในระดับเดิม อย่างไรก็ตาม ในเดือน ส.ค.นี้ ภาครัฐและเอกชนไทยเตรียมยื่นขอถอดถอนสินค้า 5 รายการ ได้แก่ กุ้ง เครื่องนุ่งห่ม อ้อย สื่อลามก และปลา ที่ถูกสหรัฐฯ กล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ นอกจากประเด็นด้านแรงงานแล้ว ยังมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยต้องให้ความสำคัญ เพราะอาจมีผลกระทบต่อการค้าได้ โดยเฉพาะมาตรการของสหภาพยุโรป เช่น การห้ามทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม(IUU fishing) การห้ามนำเข้าสินค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย(EU Timber Regulation) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(EU ETS) เป็นต้น