โดยขณะนี้อยูระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ สำรวจ และออกแบบเบื้องต้นทางพิเศษ เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ คาดว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า จากนั้นก็จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม และยกให้เป็นโครงการเร่งด่วนให้ทันรองรับ AEC ในปี 58 ทั้งนี้จะใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี ส่วนงบลงทุนยังไม่นิ่งเพราะทำการศึกษาได้มาเพียงครึ่งทาง ซึ่งด่านศุลกากรสะเดาจะเป็นจุดแรกที่ทำทางเชื่อมต่อไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ เพราะมีปริมาณขนส่งสินค้าและคนเดินทางเข้าออกจำนวนมากกว่าจุดอื่น
"โครงการเชื่อมอาเซียนทั้ง 4 จุดที่ศึกษาอยู่จะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในการเดินทางข้ามแดน ณ วันนี้จุดสะเดาจะเป็นจุดแรกเพราะมีปริมาณขนถ่ายสูง" นายอัยยณัฐ กล่าว
สำหรับด่านศุลกากรแม่สาย จ.เชียงราย จะเชื่อมต่อไปจีน และพม่า ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากจีนจำนวนมากเข้ามาเที่ยวในเชียงรายและเชียงใหม่ และ กทพ.มีแผนจะเจาะอุโมงค์เพื่อใช้เป็นทางตรงไปเชียงใหม่ถึงเชียงราย ขณะที่ด่านศุลกากรมุกดาหารจะเป็นจุดเชื่อมผ่านไปถึงเวียดนาม ส่วนด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นจุดที่มีปริมาณขนส่งสินค้าสูง ข้ามไปพม่า
ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า กทพ.จะจัดเป็น one stop service และประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมกงสุล โดยสร้างทางพิเศษระยะทาง 4-5 กิโลเมตร เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ซี่งใช้เวลาผ่านศุลกากรราว 5 นาที จากปัจจุบันต้องผ่านด่าน 8 จุดใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง
ส่วนรูปแบบดำเนินการ มี 2 แนวทาง คือ กทพ.ดำเนินการเอง หรือรูปแบบให้เอกชนร่วมทุน(PPP) โดยขณะนี้เอกชนจากจีน สิงคโปร์ และเกาหลีให้ความสนในเข้าร่วมลงทุน
อนึ่ง ในช่วงปี 54-56 มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยต่อปีของด่านศุลกากรทั้งขาเข้าและขาออกเฉลี่ยที่ด่านสะเดาประมาณ 3 แสนล้านบาท รองลงมาด่านมุกดาหารมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยราว 8 หมื่นล้านบาท ด่านแม่สอดมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยเกือบ 5 หมื่นล้านบาท และด่านแม่สาย ราว 2 หมื่นล้านบาท