นอกจากนี้ ยังมีโครงการทางด่วนขั้นที่ 3( N1,N2,N3 ) ระยะทาง 42.9 กม.ที่ต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมให้ กทพ.ชะลอออกไปก่อนหลังจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คัดค้าน แต่เนื่องจากปัญหาจรจรติดขัดมากทำให้การเดินทางจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออกไม่สามารถผ่านไปได้ เกิดปัญหาจราจรบนถนนงามวงศ์วาน ถนนรัตนาธิเบศร์ และถนนเกษตร-นวมินทร์ โดยที่ผ่านมากทพ.ได้เวนคืนที่ดินและก่อสร้างตอม่อแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
อนึ่ง โคงการช่วง N1 (แยกบางใหญ่-แยกเกษตรศาสตร์) ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร ถูกมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ต่อต้าน โดยตอน N1 เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกบริเวณบางใหญ่ วิ่งมาตามถนนรัตนาธิเบศร์ ผ่านสี่แยกแคราย วิ่งมาตามถนนงามวงศ์วานถึงจุดสิ้นสุดบริเวณสี่แยกเกษตรศาสตร์
ส่วนตอน N2 เริ่มจากสี่แยกเกษตรศาสตร์ แนวสายทางอยู่บนเกาะกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) ของกรมทางหลวง ถึงถนนนวมินทร์ ระยะทางประมาณ 9.2 กิโลเมตร และตอน N3 จากถนนนวมินทร์ ตัดผ่านถนนเสรีไทย และถนนรามคำแหง สิ้นสุดโครงการที่ถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่ บริเวณถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นจุดบรรจบระหว่างทางพิเศษศรีรัช ส่วน D กับถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่ ระยะทางประมาณ 11.5 กิโลเมตร
"วันนี้การทางพิเศษฯ จะทบทวนโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 หลังจากมีปัญหาการต่อต้านจากม.เกษตรฯ และชะลอการดำเนินการของโครงการมาระยะหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ลงทุนสร้างตอม่อช่วงเกษตร-นวมินทร์ ไปเรียบร้อยแล้ว"นายอัยยณัฐ กล่าว
พร้อมระบุว่า กทพ.ได้ทำการศึกษาทำส่วนต่อขยายอีกหลายโครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-สระบุรี ระยะทาง 63 กม. โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 38 กม. เพื่อเป็นเส้นทางที่วิ่งตรงไปนิคมอุตสาหกรรม แก้ปัญหาจราจรระหว่างเดินทางไปนิคมอุตสาหกรรมและแก้ปัญอุทกภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและขนส่งสินค้า เส้นทางนี้จะสิ้นสุดที่ อ.บางปะหัน คาดว่าจะศึกษาเสร็จต้นปี 58
โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี - พัทยา ส่วนต่อขยายระยะทาง 61 กม. โดยจะช่วยแก่ให้การเดินทางไปพัทยาได้วันเดียว สนับสนุนการท่องเที่ยว และเชื่อมต่อจุดสิ้นสุดสายบูรพาวิถี อีกทั้งช่วยการขนถ่ายสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งได้หารือในหลักการกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ขณะเดียวกันชุมชน อ.บางพระ ได้คัดค้านแต่ก็ได้ทำความเข้าใจแล้วเพราะการก่อสร้างทางพิเศษเป็นงานก่อสร้างทางยกระดับ โดยพื้นที่ด้านล่างยังสามารถใช้ได้
โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ซึ่งกทพ.จะทำการเจาะอุโมงค์ที่ภูเก็ต เนื่องจากที่ผ่านมาการเดินทางมักมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อย เนื่องจากเป็นทางขึ้นลงเขาที่ชัน ซึ่งกทพ.ได้ทำการศึกษาแล้วจะเจาะอุโมงค์รวม 3 กม. เป็นอุโมงค์ทางลอดให้ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ใช้ได้สะดวก ขณะนี้รอการพิจารณารายงานสิ่งแวดล้อม(EIA)ได้ทำการศึกษาแล้ว นับว่าโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ กทพ.เข้ามาแก้ไขปัญหาจราจรในต่างจังหวัด นอกจากนี้ยีงมีโครงการอนาคต เช่น โครงการทางพิเศษใน จ.เชียงใหม่ โครงการทางพิเศษใน จ.ขอนแก่น โดยทั้งหมดนี้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร หาก กทพ.การดำเนินโครงการเหล่านี้จะมีระยะทางพิเศษเพิ่มขึ้นอีก 300 กม. เป็น 500 กม. จากปัจจุบันมีระยะทางพิเศษ 200 กม.