(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับคาด GDP ไทยปีนี้เป็นโต 2.3%จากเดิม 1.8% หลังอุปสงค์ฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 23, 2014 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(GDP)ปี 57 เป็นเติบโต 2.3% จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะเติบโต 1.8% หลังจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้นกว่าที่คาดไว้

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวได้ชัดเจนในครึ่งปีหลัง โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่น ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีหลัง GDP จะเติบโตสูงถึง 4.3% จากครึ่งปีแรกที่เติบโตเพียง 0.2% ขณะที่ภาคการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะโตได้ 3%

"ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาขับเคลื่อนได้ด้วยเครื่องยนต์ที่ครบทั้ง 4 ด้าน คือ การบริโภคภาคเอกชน, การบริโภคภาครัฐ, การลงทุน และการส่งออก ซึ่งเทียบได้ว่าตอนนี้เหมือนเครื่องบินที่พร้อมจะ take off จากก่อนหน้านี้ที่จอดรอซ่อมอยู่ ดังนั้นเราจึงได้ทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ใหม่ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2.3% จากเดิมที่ในเดือนมี.ค.เราปรับลดลงไปอยู่ที่ 1.8%" นางพิมลวรรณ กล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นโยบายเศรษฐกิจภายใต้การบริหารของ คสช.มีส่วนช่วยให้ GDP ในปี 57 ขยายตัวดีขึ้น 1-1.5% ปัจจัยบวกมาจาก การช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะการจ่ายเงินจำนำข้าวที่ค้างอยู่ 9.2 หมื่นล้านบาท, การเร่งอนุมัติโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนอีกกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยฟื้นความเชื่อมั่นภาคเอกชนได้ นอกจากนี้ยังเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 57 รวมถึงจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 58 ให้มีผลบังคับใช้ทันวันที่ 1 ต.ค.57

อย่างไรดี ในปีนี้ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งสถานการณ์ในอิรักที่จะมีผลต่อราคาน้ำมัน อันเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเพิ่มแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อในประเทศ พร้อมมองว่า แม้ในปีนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่จะพบว่าการบริโภคและการลงทุนยังคงต่ำกว่าระดับในปี 55 และถือว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากที่เติบโตสูงถึง 6.5% ในปี 55

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่จะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ภายหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศเริ่มนิ่งมากขึ้นนั้น ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก, ธุรกิจท่องที่ยว, ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยธุรกิจค้าปลีก คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะเติบโตได้ 5.2% จากในครึ่งปีแรกที่เติบโตเพียง 0.3% ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 4.6% จากในครึ่งปีแรกที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 4.4% ส่วนธุรกิจก่อสร้าง คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้จะเติบโตได้ 5.8% จากในครึ่งปีแรกที่ลดลงถึง 6.8% และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าในครึ่งปีหลังจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างแล้วเสร็จในกทม.และปริมณฑลจะขยายตัวได้ 3.4% จากในครึ่งปีแรกที่ลดลงมากถึง 13.1%

สำหรับในภาคเกษตรนั้น มองว่าการส่งออกสินค้าเกษตรในปีนี้อาจจะยังฟื้นตัวได้ไม่มาก เนื่องจากยังมีตัวฉุดที่สำคัญ 2 ตัว คือ สินค้ายางพารา และสินค้ากุ้ง โดยสินค้ายางพารา ในช่วงครึ่งปีแรกส่งออกลดลง 9.3% และคาดว่าครึ่งปีหลังแม้จะดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลงอยู่ โดยคาดว่าจะส่งออกลดลง 3.7% เพราะปริมาณผลผลิต และสต็อกที่ยังมีอยู่ในระดับสูงเป็นตัวกดดันที่สำคัญ ขณะที่สินค้ากุ้ง ในช่วงครึ่งปีแรกส่งออกลดลง 23% และคาดว่าครึ่งปีหลังจะยังส่งออกได้ลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกันคือลดลง 22.5% จากปัญหาของวัตถุดิบในโรคตายด่วน หรือ EMS รวมทั้งปัญหาที่ไทยถูกสหรัฐฯ ลดสถานะลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดคือ Tier 3 จากสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งกรณีที่สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ในสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐจะหมดอายุ

อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรที่ยังจะพอเป็นความหวังให้กับการส่งออกของไทยในปีนี้ คือ มันสำปะหลัง และไก่ โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในช่วงครึ่งปีแรกขยายถึงมากถึง 45.7% และในครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังขยายตัวได้ 7.1% ทั้งนี้เพราะยังมีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนที่ต้องการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ส่วนสินค้าไก่นั้น ในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตได้ 1.1% แต่ในครึ่งปีหลังคาดว่าจะโตได้ 5.6% จากความต้องการสินค้าของตลาดญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป และอาเซียน

น.ส.เกวลิน ยังกล่าวถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีในปีนี้ มี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ โดยสินค้าในกลุ่มยานยนต์ คาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 8% จากความต้องการของตลาดหลัก และตลาดศักยภาพใหม่ ขณะที่สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 3.8% จากความต้องการสินค้าในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, เวียดนาม)

อย่างไรก็ดี มองว่าปัญหาเรื่องต้นทุนจะยังเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม, สิ่งทอ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ก่อสร้าง, ธุรกิจค้าปลีก, โรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น

"อุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการผลิตหลายทอด และจากปัญหาที่แรงงานต่างด้าวทยอยเดินทางกลับประเทศไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระยะสั้นที่ภาคธุรกิจอาจจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการต้องเพิ่มช่วงเวลาทำงาน การเพิ่มโอที และการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่แรงงานที่ยังอยู่" น.ส.เกวลิน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ