โดยเห็นว่าในช่วงก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 ที่จะมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศนั้น มองว่าประเทศไทยใกล้ถึงจุดเปลี่ยนแปลงแล้ว และเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยจะอยู่ในสถานภาพเช่นนี้ได้นานนัก เพราะใกล้จะเป็นรัฐที่ล้มเหลว แม้แต่สื่อในต่างประเทศเองยังเห็นว่าประเทศนั้นทุกสิ่งแตกสลาย และอยู่บนขอบเหว หากไม่แก้ไขจะเป็นประเทศที่ล่มสลายได้ และจากนั้นจุดเปลี่ยนแปลงก็ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะถูกหรือผิด คงต้องให้ประวัติศาสตร์ได้ทำหน้าที่ตัดสิน
แต่อย่างน้อยมองว่าสถานการณ์ในประเทศขณะนั้น คนไทยเองย่อมรู้อยู่แก่ใจ เพราะสามารถรับรู้และสัมผัสได้ เพียงแต่ยอมรับว่าในด้านมุมมองของต่างประเทศอาจมีปัญหาบ้าง โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วที่ยังมีความขุ่นเคือง พร้อมตั้งคำถามและมีปฏิกิริยาต่อไทยหลังจากที่คสช.เข้ามายึดอำนาจการปกครอง ทั้งนี้มองว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะในโลกสมัยใหม่นั้นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศมหาอำนาจย่อมไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรูปแบบที่เขาไม่ต้องการ และที่สุดแล้วก็ต้องแสดงปฏิกิริยาออกมา ส่วนจะแรงบ้างเบาบ้างย่อมขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นกำลังอยู่ในสถานะอะไร
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องโกรธเคืองกัน เพราะเขาก็มีมุมมองของเขา มีความเชื่อของเขา และมีผลประโยชน์ของเขา ไม่มีใครเข้าใจถ่องแท้ว่าประเทศไทยในขณะนั้น ประเทศที่สังคมทะเลาะกันจวนเจียนจะเกิดสงครามกลางเมือง จะลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันเองนั้นมันเป็นอย่างไร การที่ระเบิด M79 สามารถหล่นไปบ้านใครก็ได้นั้น มันเป็นอย่างไร เขาอาจจะเข้าใจ แต่ไม่แน่ใจว่าน้ำหนักความสำคัญที่เขาให้นั้นมีมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับบทบาทที่เขาต้องแสดงอยู่ในเวทีโลก" นายสมคิด กล่าว
พร้อมมองว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง การทำให้ประเทศดีขึ้น ให้ผลงานพูดแทนทุกสิ่ง ให้ต่างชาติได้เข้าใจความมุ่งมั่นของคนไทย ให้การรักษาคำมั่นสัญญาที่จะก้าวไปสู่การปฏิรูปประเทศนั้นตอบแทนเราต่อสังคมโลก เชื่อว่าถ้าเรามีความมุ่งมั่นและทำงานอย่างจริงจัง การสัญญาไว้นั้นในไม่ช้าทุกสิ่งจะดีขึ้น ซึ่งสามารถเห็นได้จากการแก้ไขในแต่ละปัญหาที่เริ่มมีให้เห็น เช่น ชาวนาได้รับเงินที่ค้างจากโครงการรับจำนำข้าว, งบประมาณรายจ่ายถูกขับเคลื่อนไปตามปกติ, สิ่งต่างๆ ในระบบราชการเริ่มได้รับการแก้ไข เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างที่เป็นไปตามครรลองที่ได้สัญญาไว้กับประชาคมโลกแล้ว เชื่อว่าประเทศทั้งหลายในโลกที่ยังขุ่นเคืองประเทศไทยอยู่ ก็จะหันกลับมาหาประเทศไทยอย่างแน่นอน
"ในโลกยุคนี้ การเมืองระดับภูมิภาคมีความสำคัญอย่างยิ่งในเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งประเทศไทยคือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสุด และไม่สามารถหาประเทศอื่นมาทดแทนประเทศไทยได้อย่างแน่นอน ประเทศทั้งหลายเหล่านั้นก็จะกลับมา ถ้าเราสามารถหยิบยื่นความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่นที่แท้จริง ผมเชื่อว่าจากวันนี้ไปสถานการณ์หลายสิ่งจะดีขึ้น จากไตรมาส 2 สู่ครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะค่อยฟื้นตัวเป็นลำดับ และจะค่อยๆ ดีขึ้นในปีต่อๆ ไป
การที่ประเทศเริ่มสงบ และเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศนั้น จะสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมาไม่ว่าจะจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่นัก เพราะหากหันไปมองใน 10 กว่าปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นแม้จะเติบโตได้แต่ไม่ค่อยสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือเติบโตได้จากแรงกระตุ้น และมีแนวโน้มถดถอยลงทุกปี ทั้งนี้เพราะปัจจัยเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้นผุกร่อน อ่อนแอ อาศัยว่าพื้นฐานในอดีตแข็งแรงเป็นตัวกระตุ้นให้เราประคองตัวเองอยู่ได้ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่แก้ไขอย่างจริงจังก็จะฉุดให้ประเทศไทยค่อยๆ ตกต่ำลงในอนาคต
นายสมคิด มองว่า ขณะนี้ประเทศไทยเปรียบเสมือนอยู่บนทาง 2 แพร่ง โดยแพร่งแรก ให้ดูตัวอย่างจากประเทศฟิลิปปินส์ที่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญเมื่อ 30 ปีก่อน ความไม่จริงจังในการปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้น การคอร์รัปชั่นยังคงมีอยู่ 30 ปีให้หลังฟิลิปปินส์ก็ยังคงเป็นอยู่อย่างที่เห็น ส่วนอีกแพร่งนั้น ให้ดูตัวอย่างจากอินโดนีเซียจากวิกฤติที่เกิดขึ้นรุนแรงมีคนล้มตายจำนวนมหาศาล แต่สามารถใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปประเทศยกเครื่องประเทศ จนทำให้ขณะนี้อินโดนีเซียเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในอาเซียนที่ทุกคนอิจฉา
"ผมอยากให้ประเทศไทย เดินเส้นทางในแพร่งที่ 2 คือจริงจังกับการปฏิรูป แต่จะทำอย่างไรให้มีความจริงจังเสียที เพราะประวัติศาสตร์นั้นจะเห็นว่าเราไม่เคยจริงจังกับมัน พอบ้านเมืองสงบก็ลืม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าจะให้เกิดขึ้นจริงนั้น ผมมองว่าบุคคลที่จะเข้ามามีบทบาทได้คือภาคเอกชน หลายปีที่ผ่านมาผมพูดเสมอว่าให้เอกชนเป็นหลักในการปฏิรูปประเทศ เพราะจากประสบการณ์ของผมที่อยู่ในวงการเมือง เห็นว่าทุกสถาบันเริ่มผุกร่อน แต่ภาคเอกชนพร้อมที่สุดที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นจริงได้" นายสมคิดกล่าว
โดยเห็นว่า ภาคเอกชนจะเป็นภาคที่มีบทบาทสำคัญและเป็นหลักในการปฏิรูปประเทศ โดยสามารถผลักดัน กำกับ เสนอ ขับเคลื่อนประเทศให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมีรัฐบาลใดเข้ามา ก็ขอให้เอกชนพยายามส่งเสียงให้รัฐบาลนั้นๆ ปฏิรูปประเทศไปในทิศทางที่ยั่งยืน อย่าหยุดนิ่ง นอกจากนี้ยังต้องมีการปฏิรูปตัวเองควบคู่กันไปด้วย โดยใช้โอกาสนี้ปฏิรูปตัวเอง ไม่ว่าจะในเชิงความคิด แนวทางการบริหารธุรกิจ หรือการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งในอนาคตข้างหน้า
"หน้าที่ของนักธุรกิจไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ ที่ผ่านมานักการเมืองเลว สกปรก ประเทศถึงเป็นเช่นนี้ ถ้าท่านไม่ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจนั้นก็เป็นเรื่องรอง ผมเชื่อว่าภายในวิกฤติมีโอกาส โอกาสดีที่จะร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ สมบูรณ์ และยั่งยืน ถ้าพ้นโอกาสนี้ไปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าในช่วงชีวิตผม หรือช่วงชีวิตท่านจะมีโอกาสเช่นนี้อีกเป็นครั้งที่ 2" นายสมคิด กล่าวทิ้งท้าย