"เขาไม่ได้ตัดสัมพันธ์กับไทย เขาแค่ไม่พอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่พอใจที่ทหารเข้ามายึดอำนาจ และคิดว่าควรคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้ง ผมไม่ตกใจ ไม่ประหลาดใจ และไม่กังวลเพราะความสัมพันธ์ทางการค้ายังคงมีต่อไป เขาไม่ได้ตัดเรื่องการค้า การลงทุน" นายเกริกไกร กล่าว
แต่ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากกว่า คือ การที่ EU จะระงับการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทยจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร ซึ่งในจุดนี้อาจจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของไทย ที่ประเทศเหล่านั้นจะเดินหน้ามีความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงต่างๆ กับ EU ในช่วงเวลานี้ที่ไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้
ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ลดอันดับประเทศไทยในเรื่องสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ให้ลงไปในระดับต่ำสุด คือ Tier 3 นั้น นายเกริกไกร ก็ไม่ต้องการให้ทุกฝ่ายมีความกังวลในเรื่องนี้มากจนเกินไป เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็เคยประกาศตัดการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) แก่สินค้าจากประเทศไทยจากกรณีการไม่เอาจริงเอาจังในเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาหลายครั้ง แต่สหรัฐฯ ก็ไม่สามารถทำได้จริงจัง และสินค้าไทยก็ยังคงได้รับ GSP มาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี การที่ไทยถูกสหรัฐฯ จัดอยู่ในบัญชี Tier 3 นั้น ถือเป็นการเตือนให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับปรุงและแก้ปัญหาต่างๆ อย่างจริงจังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย และไทยจะต้องเร่งชี้แจงและทำความเข้าใจต่อสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทั้งนี้มองว่าหากสหรัฐฯ จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยจริง เชื่อว่าสหรัฐฯเองจะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะปัจจุบันสหรัฐฯ มีการบริโภคและนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นจำนวนมาก