ส่วนกรณีที่จะมีการพิจารณาปรับโครงสร้างราคาพลังงานนั้น นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเพราะที่ผ่านมารัฐบาลใช้พลังงานมาเป็นนโยบายประชานิยม การนำเงินจากกองทุนน้ำทันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจี ไม่ได้ทำให้ประเทศสูญเสียเงินน้อยลง แต่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศมากขึ้น เนื่องจากต้องสูญเสียรายได้กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
ส่วนกรณีมีผู้สนับสนุนให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ควรคำนึงถึงความเหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดตั้งกองทุนฯ ก็เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน โดยนำเงินจากกองทุนฯ อุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ เอทานอล ทำให้ราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์กับเบนซินแตกต่างกัน แต่หากไม่มีกองทุนฯ จะทำให้ราคาน้ำมันดังกล่าวใกล้เคียงกัน อาจทำให้ผู้บริโภคไม่สนใจแก๊สโซฮอล์ เพราะมีอัตราการสิ้นเปลืองมากกว่า สุดท้ายผู้บริโภคก็จะเลือกใช้แต่เบนซินเท่านั้น ส่งผลให้ธุรกิจเอทานอลต้องล้มละลาย เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกันไทยก็ต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยอยู่ที่ประมาณ 7-15 ปี ดังนั้นสิ่งสำคัญคือไทยจำเป็นต้องสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.ก็จะพยายามเร่งเป็นเจ้าของแหล่งพลังงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน