SMEs ไทย 60% ยอมรับไม่พร้อมเข้า AEC ปี 58 ทั้งสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 24, 2014 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ เรื่อง "ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกไทย ปรับตัวไปแค่ไหนภายใต้เออีซี" จากผู้ผลิตและส่งออกไทยที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(SMEs) จำนวน 1,000 ราย ครอบคลุม 19 รายการสินค้าว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออก SMEs มากกว่า 63.1% หรือประมาณ 321,000 ราย จากจำนวน SMEs ในภาคผลิตทั้งหมด 512,000 ราย คิดว่าปรับตัวไม่ทันกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 โดย SMEs ที่ปรับตัวไม่ทัน พบว่าในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว, ประมง, ไก่ และยางพารา ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับตัวไม่ทัน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร และเครื่องดื่ม เป็นต้น
"จากผลสำรวจการที่ SMEs ไม่พร้อมเข้าสู่ AEC ทำให้สูญเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศในอาเซียน เพราะไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จาก AEC อย่างไร และยังจะเสียโอกาสในการเข้าไปลงทุนตั้งบริษัทในประเทศเพื่อนบ้าน หากปล่อยไว้ SMEs กลุ่มที่ปรับตัวไม่ทันจะทยอยปิดกิจการไป แต่คงจะไม่เห็นผลทันทีในปี 58" นายอัทธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ มีข้อเสนอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานที่มีลักษณะคล้ายกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และควรมีกองทุนสำหรับ SMEs วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น เสื้อผ้า, อาหารทะเล, รองเท้า และโรงสี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ควรจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยในประเทศอาเซียน สร้างเครือข่ายระหว่างสมาคมผู้ผลิตในประเทศไทยกับประเทศอาเซียน และที่สำคัญจะต้องมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านแบบรวมกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อไปตั้งฐานการผลิตหรือกระจายสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ