(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผย พ.ค.ส่งออกหด 2.14%-นำเข้าวูบ 9.32% ขาดดุล 808 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 26, 2014 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าต่างประเทศเดือน พ.ค. 57 ระบุว่า การส่งออกอยู่ที่ 19,401.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 2.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 20,210.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 9.32% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 808.8 ล้านดอลลาร์ สรอ.

"การส่งออกของไทยยังคงชะลอตัวจากภาวะการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของประเทศคู่ค้าต่างๆ แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นมาก" นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกชะลอตัวต่อเนื่องกัน 3 เดือน มีสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ ได้แก่ ยางพารา, น้ำตาล, อาหารทะเล, และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แม้สินค้าเกษตรเหล่านี้จะมีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ค.57) การส่งออก ลดลง 1.22% มาที่ 92,862.1 ล้านดอลลาร์ สรอ.จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าหดตัว 14% มาที่ 94,418.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลทั้งสิ้น 1,556.2 ล้านดอลลาร์ สรอ.

เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้า ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าหลัก(Real Sector) ที่เป็นการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งไม่รวมสินแร่และเชื้อเพลิง ทองคำ มีสัดส่วนการส่งออกในเดือน พ.ค.57 และระยะ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.57) ที่ 92.6% และ 93.0% ของมูลค่าการส่งออกรวม ตามลำดับ พบว่า การส่งออกสินค้าหลัก(Real Sector) เดือน พ.ค.57 ลดลง 2.93%(YoY) และระยะ 5 เดือน(ม.ค.-พ.ค.57) ลดลง 1.59%(AoA)การส่งออกเดือน พ.ค. 57 ในภาพรวม สินค้าส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.1 (YoY)

โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มสินแร่ เชื้อเพลิง และทองคำ ขยายตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าหลักในกลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก และกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 6.4%, 11.7% และ 17.5%(YoY) ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มยานยนต์ และส่วนประกอบ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง หดตัว 3.6%, 6.8%, 8.8% และ 11.6% (YoY) ตามลำดับ

ในทางตรงกันข้าม สินค้าในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา 3.5%(YoY) โดยอาหารทะเลแช่แข็ง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ยางพารา และน้ำตาล ลดลง 9.3%, 16.9%, 23.1% และ 23.2%(YoY) ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยังแต่ละตลาดสำคัญนั้น จะพบว่าในตลาดหลัก โดยรวมการส่งออกขยายตัวดีขึ้น 1.7% ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่สหภาพยุโรป ขยายตัวต่อเนื่องที่ 11.9% และสหรัฐฯ ขยายตัว 2.8% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณการปรับตัวในเชิงบวกจากแรงหนุนของภาคการผลิต ภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ และการจ้างงานที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัว 9.9% จากการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง อันเนื่องมาจากภาคครัวเรือนที่แห่กักตุนสินคน้าก่อนปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนตลาดศักยภาพสูงนั้น การส่งออกโดยรวมลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไปอาเซียน (5) ลดลง 3.3% สำหรับการส่งออกไปจียยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ 5.7% เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังมีสัญญาณอ่อนแรงจากากรชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร โดยประเด็นที่ควรจับตามองคือ ความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นางนันทวัลย์ กล่าวถึงผลกระทบจากกรณีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์(TIP Report) โดยปรับลดระดับให้ไทยไปอยู่ในระดับ 3(Tier 3) ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการค้า ซึ่งกรณีของ Tier 3 นั้น ภาคเอกชนโดยสหพันธ์ประมงของสหรัฐฯ ยืนยันว่ายังทำการค้าต่อกันตามปกติ และยังมีความร่วมมือกับผู้ค้าของไทยที่ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีของสหภาพยุโรป(อียู) ที่ประกาศระงับความร่วมมือกับประเทศไทย ด้วยการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน โดยอียูจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) กับประเทศไทยนั้น แต่เนื่องจากอียูไม่ได้คว่ำบาตรไทย แต่เพียงแค่ชะลอการลงนามในข้อตกลง PCA จึงเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการทำการค้ากับไทย และไม่น่าจะส่งผลให้ไทยต้องปรับลดเป้าหมายการส่งออกไปยังกลุ่มอียู และสหรัฐฯ ในปีนี้ลง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2557 จะสามารถขยายตัวได้ 3.5% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.6-3.7% ตามการคาดการณ์ของ IMF, ราคาสินค้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมโลกลดลง 2.5% และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จากปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยอยู่ที่ 32.02 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า หากต้องการให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวที่ระดับ 3.5% ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั้น มูลค่าส่งออกของไทยนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค.57 จะต้องมียอดเฉลี่ยราว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน หรือจะต้องให้มีการขยายตัวอย่างน้อยเดือนละ 5% ซึ่งเชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักของไทย ทั้งสหรัฐ และอียู ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังให้ดีกว่าครึ่งปีแรกได้

"เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะมั่นใจได้เพราะประเทศคู่ค้าทั้งสหรัฐ และอียูเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จึงทำให้มี demand ในสินค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ดังนั้นปลายปีนี้ก็จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกไทยได้ดีขึ้นทั้งในแง่มูลค่าและปริมาณ" อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ