"ในปีนี้สำนักงานประกันสังคมได้เริ่มจ่ายบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตน มีผู้มีสิทธิมาขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพแล้ว 9,918 คน จ่ายเงินบำนาญชราภาพไปแล้ว 80.52 ล้านบาท และจะมีผู้รับบำนาญชราภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง"นางอำมร กล่าว
สำหรับในระยะยาวนั้น ที่ผ่านมาการบริหารการลงทุนของ สปส.เติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดเงินกองทุน 1.1 ล้านล้านบาทในปัจจุบันเป็นการนำเงินไปลงทุนตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เงินต้น หรือเงินสมทบจากลูกจ้าง / ผู้ประกันตน นายจ้าง / ผู้ประกอบการ และรัฐบาล จำนวน 797,133 ล้านบาท และ 2.ดอกผลสะสม จำนวน 332,375 ล้านบท
สปส.ได้เตรียมระบบการจัดการดูแลการจ่ายบำนาญชราภาพไว้ในระยะยาว และมีการเตรียมความพร้อมไว้หลายด้าน สืบเนื่องจากกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคมอาจมีเงินไม่พอจ่ายบำนาญชราภาพนั้น จากข้อมูลวิชาการทางด้าน“คณิตศาสตร์ประกันภัย"ซึ่งมีข้อสรุปถึงสถานภาพกองทุนในระยะยาว นำไปสู่การวิเคราะห์และคาดการณ์กันในหลากหลายมิติ ทางสปส.ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว จึงนำมาพิจารณาร่วมกันในการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงของกองทุนอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เช่นเดียวกันนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศที่มีระบบการจ่ายบำนาญชราภาพ ก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน เนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือ โครงสร้างประชากรโลกที่มีแนวโน้มว่ามีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากปัญหาดังกล่าวเราจึงได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในหลายวาระและโอกาส ทั้งในการประชุมของสมาคมการประกันสังคมระหว่างประเทศ ISSA สมาคมการประกันสังคมอาเซียน ASSA เพื่อร่วมกันหาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมต่อไป
"สำนักงานประกันสังคมตระหนักอยู่เสมอว่า เงินกองทุนประกันสังคมส่วนหนึ่งเป็นเงินสมทบจากลูกจ้างผู้ประกันตนมาจากหยาดเหงื่อของผู้ใช้แรงงาน คณะผู้บริหารและทีมงานของสำนักงานประกันสังคมจึงดำเนินการอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล หามาตรการ และวางแผนในการทำงานอย่างรัดกุม เพื่อหาวิธีให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ในส่วนของการบริหารจัดการกองทุน ก็ได้มีการประสานการทำงานกันกับทุกภาคส่วน เพื่อให้กองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนในระยะยาว" นางอำมร กล่าว