TDRI ชี้ธุรกิจก๊าซในไทยยังผูกขาด แนะภาครัฐปรับขึ้นราคา LPG ตามกลไกตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 3, 2014 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) มองว่า ปัจจบันธุรกิจก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยยังมีการผูกขาดและการกำหนดราคาของภาครัฐที่ยังบิดเบือน ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามากำหนดราคาให้เหมาะสม โดยลักษณะการผูกขาดที่เห็นอยู่ขณะนี้มี 3 จุด คือ 1.การที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติที่เป็นของ บมจ.ปตท.(PTT) ผู้เดียวถึง 6 โรง 2. การผูกขาดในส่วนของท่อก๊าซธรรมชาติโดย ปตท.อีกเช่นกัน ซึ่งจะต้องให้ผู้ใช้รายอื่นมาใช้ด้วย และ 3.การที่สถานีรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) และก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ซึ่งใช้เงินลงทุนสูง ทำให้มี ปตท.เพียงรายเดียวที่ลงทุนในธุรกิจนี้

ดังนั้นในระยะสั้น ทีดีอาร์ไอจึงเสนอให้ ปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกมา และให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กพพ.) ออกประกาศให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้ท่อส่งก๊าซฯ ของ ปตท.ได้ หรือ third party asset ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และ กกพ.มีร่างดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ต้องมีการแยกธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติด้วย หาก ปตท.จะดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ปิโตรเคมี เพราะธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจปิโตรเคมีต่างๆ ซึ่งหากไม่มีการแข่งขัน การทำธุรกิจปิโตรเคมีต่อเนื่องก็จะไม่มีการพัฒนา

ส่วนเรื่องราคาพลังงานนั้น ทีดีอาร์ไอเห็นว่าควรจะต้องมีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีในทุกกลุ่มให้เป็นราคาเดียวกันหมด และให้เป็นไปตามต้นทุนราคาตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ไม่ควรมีการบิดเบือนราคาตลาด หรือไม่ควรมีการตรึงราคาแอลพีจี รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)ในราคาที่ต่ำ เพราะราคาขายที่ต่ำเกินไปจะทำให้การผลิตในประเทศมีปริมาณที่ต่ำเกินไปด้วย เนื่องจากไม่จูงใจให้มีการผลิต โดยปัจจุบันราคาก๊าซฯในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 9-10 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ก๊าซฯ จากประเทศเมียนมาร์อยู่ที่ 14 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และก๊าซฯ นำเข้าจากต่างประเทศอยู่ที่ 16-17 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

นางเดือนเด่น ยังกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเห็นว่าควรจะมีการปรับเพิ่มราคาก๊าซฯ ของกลุ่มปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ใช้ก๊าซฯ ในราคาถูกกว่ากลุ่มอื่น เพื่อนำเงินส่วนต่างมาช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปรับขึ้นราคาพลังงาน หรืออาจให้ภาคการผลิตไฟฟ้าได้ใช้ก๊าซฯ จากอ่าวไทยแทน เพื่อที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูก

พร้อมกันนี้ ยังเสนอว่าควรมีสูตรราคาที่อ้างอิงกับต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือราคาจะต้องไม่ค้ากำไรมากเกินไป แต่การดำเนินงานก็จะต้องมีประสิทธิภาพด้วย รวมถึงควรจะต้องมีการเปิดเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนและราคาพลังงานต่อสาธารณะชน

ด้านนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การขุดเจาะสำรวจพลังงานมีต้นทุนสูง รัฐบาลจึงมอบหมายให้ ปตท.ไปดำเนินการในธุรกิจนี้ ซึ่งถือว่ามีเหตุผลเพียงพอที่ให้ดำเนินการ แต่เมื่อมีรายเดียวจนเป็นการผูกขาดแล้ว ก๊าซที่ ปตท.เป็นเจ้าของก็ต้องพิจารณากันว่าก๊าซฯ เหล่านั้นเป็นของสาธารณะสมบัติ จึงไม่ควรดำเนินการผู้ขาด หรือบริหารก๊าซเพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยราคาจะต้องมีความเหมาะสม เป็นธรรมกับประชาชน และเป็นราคาที่จูงใจให้ผู้ผลิตสินค้าออกมาด้วยประสิทธิภาพที่ดี ที่สำคัญจะต้องไม่สร้างกำไรเกินควร และมีแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ