สศก.ชี้ช่องทางลงทุนการเกษตรของไทยให้ตรงตามดีมานด์ตลาดอาเซียน-CLMV

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 3, 2014 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้วิเคราะห์ถึงการลงทุนของไทยในอาเซียน ซึ่งจากกระแสโลกาภิวัตน์ รวมทั้งกระแสการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนจากการเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะถึงในปี 2558 ซึ่งเป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่จะออกไปแสวงหาลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม

นับตั้งแต่อดีตจากข้อมูลปี 51 ถึง 56 ไทยไปลงทุนในต่างประเทศ (Thai Direct Investment: TDI) ในกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV เฉลี่ยถึง 44.70% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.6 แสนล้านบาท สาขาการผลิตที่บริษัทไทยไปลงทุนมากที่สุดคือ เหมืองแร่และย่อยหินประมาณ 46% (สัดส่วนเฉลี่ยปี 51-56) รองลงมาคือ ภาคการเงินและประกันภัย 24% ภาคอุตสาหกรรม 16% การค้าส่งและปลีก 13% และ ภาคการเกษตร 10% เติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 5-6% ซึ่งคาดว่าต่อไปจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี

ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีต่อการลงทุนภาคการเกษตรของไทยในอาเซียน ประกอบด้วย ปัจจัยทางด้านทรัพยากร ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านการเงิน ปัจจัยด้านการค้าระหว่างประเทศ ปัจจัยด้านภาษาและการสื่อสารทางการค้า ดัชนีชี้วัดทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และ ปัจจัยด้านกฎระเบียบและข้อตกลงทางการลงทุนระหว่างประเทศและปัจจัยทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ

จากการศึกษาศักยภาพการลงทุนของไทยในอาเซียน เพื่อวิเคราะห์การลงทุนในรูปมูลค่าการลงทุนของไทยไปยังประเทศกลุ่มอาเซียนอีก 9 ประเทศ พบว่า ขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว พบว่า หากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทยเพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลทำให้มีความต้องการการลงทุนจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น 3.04% ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวของประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลทำให้มีความต้องการการลงทุนจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น 0.33%

ในส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน หากเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้การลงทุนของไทยเพิ่มขึ้น 0.83% ขณะที่หากระยะทางระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้การลงทุนประเทศไทยลดลง 1.29% (ระยะทางยิ่งไกลโอกาสที่จะไปลงทุนยิ่งมีน้อย) และหากมีข้อตกลงทางการค้าอยู่ก่อนก็จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้ไทยไปลงทุนในกลุ่มอาเซียน เพิ่มขึ้น 0.77% เช่นเดียวกัน

ด้านมาตรการและแนวทางการส่งเสริมการลงทุน ในส่วนของภาครัฐ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทยอย่างมีประสิทธิผลต้องอาศัยความร่วมมืออย่างบูรณาการจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน แนวทางที่สำคัญนั้นหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทหลัก คือ การดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชนโดยเฉพาะมาตรการทางภาษี ควรขจัดเกณฑ์การเสียภาษีที่ซ้ำซ้อน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเพื่อลดภาระและต้นทุนการบริหารจัดการของภาคเอกชน ด้วยสนับสนุนเงินทุนแก่ธนาคารของรัฐโดยเฉพาะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM Bank ) เพื่อให้ธนาคารฯ มีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนไปลงทุนในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารของรัฐต่างๆ ควรจะต้องเน้นการให้ความสะดวกด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินที่ครบวงจรแก่นักลงทุนมากขึ้น และควรมีการตั้งหน่วยงานกลางแบบ One-Stop Service ที่ทำหน้าที่เชิงรุกในการให้ความรู้ ชี้แนะโอกาสทางธุรกิจ กลยุทธ์การทำธุรกิจในต่างประเทศ รวมทั้งช่วยจัดหาที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้คำแนะนำแก่ภาคเอกชนไทยในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และ/หรือ จับคู่นักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจในท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ที่ทราบถึงกฎระเบียบ หรือตลาดในประเทศเหล่านั้นเป็นอย่างดี ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้เลยคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับรัฐต่อรัฐโดยเฉพาะกับประเทศที่มีกฎระเบียบที่ซับซ้อนและเข้มงวด เพื่อช่วยสนับสนุนภาคเอกชนในการเจรจาด้านการลงทุนระหว่างประเทศ

สำหรับภาคเอกชน นักลงทุนไทยควรปรับตัวและเตรียมตัว ได้แก่ การรวมตัวของภาคเอกชนไทยเป็นคณะกลุ่มหรืออาจสร้างเป็นคลัสเตอร์เพื่อไปหารือโดยตรงกับหน่วยงานภาครัฐในประเทศเป้าหมาย จะได้รับความสนใจกว่าการออกไปเป็นรายบริษัท การเรียนรู้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งศึกษาข้อมูลหรือสภาพแวดล้อมของประเทศที่จะไปลงทุนให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสังคม ภาษา วัฒนธรรมและกฎระเบียบด้านการลงทุนของแต่ละประเทศด้วย

แนวทางการลงทุนด้านการเกษตรในประเทศสมาชิกอาเซียน มีหลากหลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรม สามารถวิเคราะห์ได้เป็นรายประเทศ ดังนี้ กัมพูชา ธุรกิจที่น่าสนใจในการขยายการลงทุนในกัมพูชา อาทิ การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ การผลิตสินค้าเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย การแปรรูปสินค้าเกษตร โรงสีข้าว การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสัตว์น้ำ การทำฟาร์ม ปศุสัตว์สมัยใหม่ การทำธุรกิจการเกษตรแบบครบวงจร รวมทั้งธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ปัจจุบันธุรกิจของไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์, TCC Corporation, น้ำตาลมิตรผล, บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL)

อินโดนีเซีย เน้นและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เช่น อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ยางพารา และการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เป็นต้น หากเป็นอาหารสำหรับการบริโภค ควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานฮาลาลอย่างเคร่งครัด ธุรกิจของไทยที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียแล้ว ได้แก่ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA), เครือเจริญโภคภัณฑ์, บมจ. ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น (TUF), บมจ. ปตท (PTT)

สปป.ลาว ธุรกิจการเกษตรที่ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุน คือการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลิตผลจากป่า เช่น ลูกตาวประป๋อง เครื่องใช้จากไม้ไผ่ สมุนไพร การผลิตปศุสัตว์ การทำประมงน้ำจืดในแม่น้ำโขง และการผลิตและแปรรูปอาหาร เป็นต้น รวมทั้งบริการทางการเกษตรโดยใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็กใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย ลาวมีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป การรับรองมาตรฐานสินค้า และการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร จึงจำเป็นต้องการความช่วยเหลือในการพัฒนาจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก

การดำเนินธุรกิจการเกษตรในลาว จะประสบปัญหาเรื่องแรงงาน ทั้งด้านจำนวนแรงงาน ทักษะฝีมือ ความกระตือรือร้นในการทำงาน และความไว้วางใจ และการปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติของทางการ สปป.ลาว จะมีความแตกต่างกัน นักลงทุนควรตระหนัก เรื่องการคิดและตัดสินใจแทนคนลาวว่าควรจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และเพื่ออะไร ต้องให้เป็นความต้องการของคนลาวเอง เช่น การทำการเกษตรตามความต้องการของคนลาวเองไม่ใช่ความต้องการของนักลงทุน เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากสำหรับคนลาว

ส่วนมาเลเซีย การผลิตและแปรรูปอาหารที่เป็นโครงการใหม่ และ/หรือเป็นการขยายการลงทุนเพิ่มเติม เช่น โครงการผลิตอาหารฮาลาล การทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกที่ทันสมัย การแปรรูปไม้ยางพารา การส่งออกอาหาร ผลไม้และดอกไม้ เป็นต้น อุตสาหกรรมเกษตรจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บางส่วน โดยนำเงินได้เพียงร้อยละ 30 ของเงินได้ทั้งหมดมาคำนวณภาษีเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่มีผลผลิตออกจำหน่ายส่วนการลงทุนในเขตที่รัฐบาลส่งเสริมพิเศษได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี

ขณะที่เมียนมาร์ มีนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตร โดยส่งเสริมการลงทุนทางการเกษตรทุกรูปแบบ ทั้งด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ตั้งแต่การผลิต โดยใช้เทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ และการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปต่างประเทศ กฏหมายการลงทุนฉบับใหม่ โดยมีข้อกำหนดด้านการลงทุนของชาวต่างชาติ โดยสาขาที่ต้องดำเนินกิจการร่วมกับชาวเมียนมาร์ในรูปแบบร่วมลงทุน (Joint venture) รวมสาขาเกษตรด้านการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชผสม อนุญาตให้ต่างชาติดำเนินกิจการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดและได้รับอนุญาตเห็นชอบจากหน่วยราชการหรือต้องร่วมทุนกับรัฐบาลหรือกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลบางสาขา เช่น มาตรฐานด้านปศุสัตว์ และรูปแบบลงทุนต่างชาติลงทุน 100%, แบบจัดตั้ง Joint Venture กับเอกชนสหภาพเมียนมาร์, ร่วมลงทุนในรูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) และรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น

ฟิลิปปินส์ ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ ประกอบกับยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมิได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ อาทิ สัตว์น้ำ สาหร่ายคาราจีนัน และพืชผลการเกษตรต่างๆ อุตสาหกรรมที่ควรลงทุน ได้แก่ การแปรรูปสินค้าประมง เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง/กระป๋อง การแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น ผักผลไม้ บะหมี่ ขนมปังกรอบ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ