กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงว่าตามกฎหมายของสหรัฐฯ ในกรณีนี้สหรัฐฯ อาจทำได้เพียงพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ด้านมนุษยธรรมและด้านที่ไม่เกี่ยวกับการค้าเท่านั้น(Non-humanitarian and non-trade-related foreign assistant) เช่น การให้เงินสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม หรือความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก(World Bank) เป็นต้น ซึ่งมาตรการตามกฎหมายสหรัฐฯ ดังกล่าวไม่รวมถึงการห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยใดๆ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ การที่ประเทศใดๆ จะใช้มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ โดยอ้างเหตุที่มาจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ ก็เป็นเรื่องที่อาจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติขององค์การการค้าโลกซึ่งทั้งไทยและสหรัฐฯ ต่างก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย
กระทรวงพาณิชย์จึงขอให้ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่าได้วิตกกังวลกับข่าวลือที่กำลังแพร่สะพัดอยู่ในขณะนี้ และขอให้ดำเนินธุรกิจการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ต่อไปได้ตามปกติ
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้รายงานดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบทางด้านการค้ากับไทย แต่อาจมีผลกระทบด้านจิตวิทยาของผู้บริโภคในเรื่องภาพลักษณ์และสินค้าส่งออกจากไทย โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้มีแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดยการดำเนินการระยะสั้น ประกอบด้วย 1.แต่งตั้งคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงาน(Trade & Labor) โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อกำหนดแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทั้งระบบ ซึ่งมีการประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 2.รัฐบาลไทยจะมีหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อเรียกร้องไม่ให้สหรัฐฯ ระงับความช่วยเหลือประเทศไทยจากการจัดอันดับไทยใน Tier 3(Presidential waiver) 3.ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.ค.จะจัดทีมประเทศไทยเดินทางชี้แจงผู้มีบทบาทสำคัญ(key players) ทั้งภาครัฐและเอกชนในสหรัฐฯ เช่น National Fisheries Institute (NFI) ซึ่งเป็นสมาพันธ์ผู้นำเข้าสินค้าประมงแห่งสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศคู่ค้ารายใหญ่ในสหภาพยุโรปด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกสินค้าไทยว่ามี Clean Supply Chain ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่การผลิต และ 4.ในช่วงปลายเดือน ก.ค.ได้เชิญคู่ค้าสำคัญรายใหญ่ อย่าง Costco, Wal-Mart และ Tesco เดินทางเยือนไทยเพื่อแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของไทยมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากล
ส่วนการดำเนินการระยะยาว 1.การปฏิรูประบบบริหารจัดการแรงงาน โดยจัดระบบแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี GLP(Good Labour Practice) และป้องกันความเสี่ยงด้านปัญหาแรงงานที่เชื่อมโยงกับการค้า 2.พัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็ง โดยปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่มาตรฐานสากล และดำเนินการด้านการตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าและบริการของไทยว่าไม่มีปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าในต่างประเทศและสาธารณชนถึงความตั้งใจและจริงใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังอีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำ Facebook:the truth about Thai labour ซึ่งมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทย ที่ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้