สำหรับเป้าหมายพื้นที่การตรวจสอบของสารวัตรเกษตรในเบื้องต้นคือพื้นที่รอบกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล 13 จังหวัด รัศมี 200 กม. เช่น สุพรรณบุรี ชัยนาท สมุทรปราการ ราชบุรี นครนายก เป็นต้น เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำของผลผลิตปุ๋ย สารเคมีเกษตรที่สำคัญถึง 90% ที่กระจายไปจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งในวันนี้ที่เริ่มต้นโครงการอย่างเป็นทางการ นายวิทยา ฉายสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานจะเข้าตรวจสอบ ปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์พืช ในสถานที่ผลิต จำหน่าย หรือผู้มีไว้ในครอบครอง พร้อมกับชุดปฏิบัติการพิเศษด้วยการสนธิกำลังสารวัตรกรมปศุสัตว์ สารวัตรกรมประมง สารวัตรข้าว และสารวัตรเกษตรของกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่ข้างต้น และจะเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามรายชื่อแหล่งผลิตและจำหน่ายที่กรมวิชาการที่มีอยู่
นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการโรงงานผลิตปุ๋ย สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งมีสมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมนั้น ถือเป็นการซักซ้อม และทำความเข้าใจร่วมกันในการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการลดต้นทุนการผลิคให้แก่เกษตรตามมติ คสช. ให้เกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ ทางสมาคมต่าง ๆ จะรวบรวมรายชื่อร้านค้า และจุดจำหน่ายที่อยู่สมาคมฯ มายังกรมวิชาการเกษตร เพื่อจัดทำเป็นคู่มือแหล่งจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและลดราคาตามโครงการลดต้นทุนให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์เพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรต่อไป
ด้านนายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่กรมวิชาการเกษตรซึ่งดูแลพระราชบัญญัติที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตร คือ พระราชบัญญัติปุ๋ย พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย และพระราชบัญญัติพันธุ์พืชนั้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด พบว่า มีคดีที่สิ้นสุดแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวนลดลง โดยผลการดำเนินการจับกุมผู้ผลิตและจำหน่ายที่ฝ่าฝืนกฏหมายมีจำนวน 15 ราย ของกลาง 7,570 ตัน มูลค่า 113 ล้านบาท เป็นคดีปุ๋ยจำนวน 11 ราย มูลค่า 80 ล้านบาท วัตถุอันตรายปลอม 4 ราย มูลค่า 32 ล้านบาท ดังนั้น มั่นใจว่ามาตรการเสริมของกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการตรวจสอบและปราบปราม จะทำให้การกระทำผิดเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว