ส่วนประเด็นการตรวจสอบเอกสารทางวิชาการ เช่น รายงานลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่ แผนผังโครงการทำเหมือง จะกำหนดมาตรฐานการจัดทำรายงานและกำหนดระยะเวลาตรวจสอบให้ไม่เกิน 60 วัน โดยอาจพิจารณามอบให้บริษัทที่ปรึกษา หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ขึ้นทะเบียนกับ กพร. เข้ามาช่วยจัดทำรายงานให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ ประเด็นการทำเหมืองแร่ที่ไม่ได้รับอนุญาต กระทรวงฯ มีคำสั่งให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ร่วมกับสำนักงานเขตของ กพร. ตรวจสอบการทำเหมืองแร่ทุกแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงที่จะมีการลักลอบทำเหมือง ตลอดจนเหมืองแร่ที่หมดอายุประทานบัตรไปแล้ว เบื้องต้นพบการทำเหมืองแร่เถื่อนในหลายพื้นที่ จึงขอให้สภาการเหมืองแร่ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกผู้ประกอบการเหมืองแร่ให้ดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย เพื่อสร้างการยอมรับของสังคมต่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ ด้านการกำกับดูแลการทำเหมือง กระทรวงอุตสาหกรรมจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนต่อชุมชนโดยรอบ
“กฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการขออนุญาตหรือการทำเหมือง หากอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงฯ ก็จะรีบจัดการเสนอแก้ไข ส่วนประทานบัตรและอาชญาบัตรเหมืองแร่ที่อยู่ระหว่างพิจารณาก็จะเร่งรัดออกใบอนุญาต โดยขอยืนยันว่าจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย และหากพบว่าการขออนุญาตเนิ่นนานหรือติดขัดสามารถติดตามเรื่องได้ที่ศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ (SCIE) โดยตรง หรือติดต่อได้ที่ โทร. 0 2202 3866 ในวันเวลาราชการ" นายวิฑูรย์ กล่าว
นายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมขอให้สภาการเหมืองแร่ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจต่อผู้ประกอบการเหมืองแร่ทุกรายให้สนับสนุนนโยบายข้างต้น เพื่อเรียกความมั่นใจในการประกอบกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทย ทั้งนี้ กพร.ยืนยันว่าขั้นตอนการอนุญาตและการกำกับดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีความโปร่งใส ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ในทุกขั้นตอน หากพบว่าเจ้าหน้าที่ท่านใดปฏิบัติไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดทุกราย
นายสมพร อดิศักดิ์พานิชกิจ เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการที่เอาเปรียบสังคมโดยทำผิดกฎหมายนั้น ทางสภาการเหมืองแร่จะเข้าไปหารือทำความเข้าใจและจะทำงานร่วมมือกันกับกระทรวงฯ ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น