2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้องค์กรของเกษตรกรเข้ามามีส่วนช่วยในการรักษาระดับราคาผลผลิตข้าวรวมทั้งมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยการไปรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจำหน่าย วงเงินสินเชื่อ 18,000 ล้านบาท และเพื่อนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 20,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MLR -1 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) ทั้งนี้จะคิดจากสถาบันเกษตรกรในอัตราร้อยละ 1 ที่เหลือรัฐบาลเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกร ระยะเวลา 12 เดือน และรัฐบาลยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้สถาบันเกษตรกรในวงเงิน 100 ล้านบาท สำหรับค่าเบี้ยประกันภัยและค่าบริหารโครงการที่เกี่ยวข้อง คาดว่ามีสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 464 แห่ง
3.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าไปช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาเป็นปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการชะลอการขายโดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระหนี้สิน เพราะสามารถนำผลผลิตคือข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวมาขอกู้กับ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาด ในวงเงินไม่เกินรายละ 300,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายใน 4 เดือนนับถัดจากเดือนรับเงินกู้ เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 เป้าหมายดำเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนธ.ก.ส. และรัฐเป็นผู้ชดเชยต้นทุนเงินในอัตรา FDR+1 รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการส่งมอบข้าวเปลือกของเกษตรกรจากยุ้งฉางถึงจุดส่งมอบในอัตราตันละไม่เกิน 300 บาท กรณีราคาตลาดต่ำกว่าวงเงินให้สินเชื่อ และรัฐบาลกำหนดมาตรการระบายข้าวเปลือก ซึ่งทั้ง 3 โครงการจะแยกการดำเนินงานออกจากบัญชีปกติของ ธ.ก.ส.
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการยังเห็นชอบให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กู้เงินสำหรับนำไปจ่ายเพิ่มค่าอ้อยฤดูการผลิตปี 2556/57 ในอัตรา160 บาท/ตัน โดยจ่ายตรงให้กับชาวไร่อ้อยในทุกตันอ้อยที่ส่งเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลทราย จากปริมาณผลผลิตอ้อยทั้งสิ้น 103.665 ล้านตัน วงเงินกู้ 16,586.52 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 17 เดือนนับแต่วันกู้ โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR-0.75 ต่อปี