ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงิน จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนแบบครบวงจรผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Chain) ตามห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเน้นกลุ่มสหกรณ์และชนชนเป็นหลัก หลักเกณฑ์การขอสินเชื่อเบื้องต้นจะพิจารณาตามความต้องการใช้เงินในแต่ละโครงการที่ทำเรื่องขอเข้ามา โดยเบื้องต้นหากเป็นการขอสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน จะปล่อยกู้ในระยะเวลา 1 ปี แต่หากเป็นการขอสินเชื่อเพื่อเป็นเงินลงทุน อาทิ การซื้อเครื่องจักร จะพิจารณาตามความเหมาะสม อาจจะ 5-10 ปี
"การพิจารณาคิดอัตราดอกเบี้ยจะต้องดูว่าเกษตรกรที่ทำเรื่องขอสินเชื่อบางรายหากเข้าเกณฑ์ตามโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยตามโครงการดังกล่าวคือ ลดอัตราดอกเบี้ยลง 3% ต่อปี และปล่อยกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่หากรายใดไม่เข้าเกณฑ์ก็จะพิจารณาดอกเบี้ยในอัตราผ่อนปรน (MLR-1) โดยไม่มีการกำหนดเพดานการปล่อยกู้ แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นหลัก" นายอดุลย์ กล่าว
ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกร เปิดเผยว่า หลังจากนี้อยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาเรื่องการเข้าแทรกแซงราคาผลผลิตผ่านกลไกของเกษตรกร โดยเฉพาะสหกรณ์ และชุมนุมเกษตรกร มากกว่าการแทรกแซงราคาผ่านโรงสีเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมในช่วง 2-3 ปีหลังจากนี้