สำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ “Thailand + 1” นั้น นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงในหลายอุตสาหกรรม และหากสามารถขยายเครือข่ายการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ จะทำให้เรายิ่งมีห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็งในอนาคต
“ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของอุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเมื่อสถานการณ์ในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ก็ทำให้นักลงทุนหันมาให้ความสนใจประเทศไทยเหมือนเดิม โดยผลการสำรวจความเห็นผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยของสำนักข่าวนิเคอิ ที่มีบทสรุปว่า ผู้บริหารสัดส่วนมากถึง 84.7%ไม่มีแผนจะทบทวนยุทธศาสตร์การทำธุรกิจในประเทศไทย ภายหลังจากที่ได้รับการยืนยันถึงนโยบายทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุนจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” นายอุดม กล่าวในงานสัมมนา “Thailand+1 Strategy and Opportunities for Japanese Companies”
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องดำเนินการเพื่อปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนของประเทศให้ดียิ่งขึ้น หน่วยราชการต่างๆ พิจารณาทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องเร่งขจัดปัญหาความล่าช้าและความยุ่งยากในการพิจารณาอนุญาตในด้านต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย
สำหรับการลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทย ช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2557) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้วทั้งสิ้น 194 โครงการ เงินลงทุนรวม 80,492 ล้านบาท โดยการลงทุนกระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจการประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ ลงทุนทั้งสิ้น 68,324.4 ล้านบาท รองมาเป็น กิจการประเภทอุตสาหกรรมเบาลงทุน 4,383.8 ล้านบาท กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าลงทุนทั้งสิ้น 3,064.7 ล้านบาท กิจการกลุ่มเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก ลงทุนทั้งสิ้น 2,065.6 ล้านบาท และกิจการบริการและสาธารณูปโภคลงทุนทั้งสิ้น 1,801.6 ล้านบาท
ด้านนายคิมิโนริ อิวามะ อัครราชทูตฝ่ายศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลังการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่น นักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับมาให้ความสนใจการลงทุนในประเทศไทยอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นข้อกังวลของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย คือ อัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงทำให้เกิดแนวคิดของกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ที่มีชื่อว่า "Thailand +1" ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แล้วสร้างความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่การผลิต(supply chain) ร่วมกับฐานการผลิตหลักในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจของไทยและญี่ปุ่น รวมไปถึงการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน