"การมีข่าวเรื่องข้าวเสื่อมคุณภาพอยู่ตลอด ไม่เป็นผลดีต่อข้าวไทยในภาพรวม เพราะจริงๆ แล้ว มีการพบข้าวเสื่อมคุณภาพจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของข้าวที่มีอยู่ในสต๊อก และยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่ามีข้าวเสื่อมเท่าไร เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบยังไม่จบ"
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การตรวจสอบสต๊อก เพราะต้องการให้เกิดความชัดเจนว่ามีข้าวอยู่ในสต๊อกรัฐบาลเป็นจำนวนเท่าไรกันแน่ ข้าวอยู่ที่ไหน โกดังอะไร โกดังไหนมีข้าวครบ หรือมีข้าวไม่ครบ และข้าวที่อยู่ในสต๊อกมีคุณภาพเป็นอย่างไร มีข้าวดีและข้าวเสื่อมตรงไหนบ้าง และเมื่อได้ความชัดเจนแล้ว ก็จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้สอดคล้องกับปริมาณและประเภทของข้าว โดยแยกตามคุณภาพของข้าวที่มีอยู่ต่อไป ซึ่งจะมีหลากหลายวิธี เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด
"การตรวจสอบสต๊อกข้าวในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความชัดเจนและทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าข้าวของไทย เพราะต่อไปผู้ที่จะมาซื้อข้าวในสต๊อก ก็จะมีความเชื่อมั่นว่าข้าวที่ซื้อไปเป็นข้าวคุณภาพระดับไหน ไม่ต้องกังวลว่าข้าวที่ซื้อไปแล้วจะมีการนำเอาข้าวเสื่อมคุณภาพมาปนแล้วขายให้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น" โฆษกฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงกรณีที่ผู้ซื้อต่างประเทศอาจเกิดความเข้าใจผิดและไม่มั่นใจในคุณภาพข้าวของไทย ซึ่งได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ซื้อแล้วว่าข้าวคุณภาพดียังอยู่ในสต๊อกของรัฐบาลอีกมาก และรัฐบาลจะไม่นำข้าวเสื่อมกับข้าวดีมาระบายปะปนกันเด็ดขาด โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวเกรดเอของไทยจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานการส่งออกอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐาน ก็จะไม่อนุญาตให้มีการส่งออก เพราะถือเป็นการทำลายชื่อเสียงข้าวไทย
“เรื่องการส่งออก กระทรวงฯ ยืนยันได้เลยว่า แม้จะมีข่าวการตรวจสอบพบข้าวเสื่อมคุณภาพเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยมีแต่ข้าวเสื่อมคุณภาพทั้งหมด และในกระบวนการส่งออกข้าวเกรดเออย่างข้าวหอมมะลิก็มีขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานข้าวหอมมะลิส่งออก มีระบบตรวจสอบที่เข้มงวด ถ้าข้าวที่ส่งออก ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ก็จะไม่อนุญาตให้ส่งออกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้ซื้อมั่นใจในการซื้อข้าวไทยต่อไป เพราะไทยไม่ยอมทำให้ชื่อเสียงของข้าวไทยเสียหายแน่นอน”นายบุณยฤทธิ์กล่าว