ทั้งนี้ การเปิดเสรีของไทยภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ทำให้มีน้ำผึ้งจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น และน้ำผึ้งที่นำเข้าจากบางประเทศมีคุณภาพต่ำ และยังมีผู้นำเข้าบางรายนำมาปลอมปนกับน้ำผึ้งไทย ซึ่งเป็นน้ำผึ้งบริสุทธิ์ 100% แล้วส่งไปขายต่อยังต่างประเทศในยุโรปและอเมริกา ทำให้ภาพลักษณ์ของน้ำผึ้งไทยเสียหาย และถูกมองว่าเป็นประเทศผู้ฟอกน้ำผึ้ง (Honey Laundry) ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไข
ด้านนายพิชัย คงพิทักษ์ อาจารย์ภาควิชากีฎวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กองทุน FTA ได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของไทย โดยได้ช่วยพัฒนากระบวนการเลี้ยงผึ้งแบบคอนโดโดยไม่ใช้สารเคมี เป็นการแยกการวางไข่ของผึ้งนางพญากับตัวอ่อน ทำให้ได้น้ำผึ้งล้วนๆ ไม่มีดักแด้ปนมาด้วย รวมทั้งให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับว่าน้ำผึ้งมาจากฟาร์มไหน เพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน
"เมื่อพัฒนาผลผลิตน้ำผึ้งให้ได้มาตรฐานแล้ว ก็ได้ศึกษาค้นคว้าในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำผึ้งไทย โดยค้นคว้าสกัดเป็นน้ำผึ้งผงเพื่อนำไปใช้ในวงการอาหารและเครื่องสำอาง และพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น รังนกผสมน้ำผึ้ง, อาหารเสริม, โลชั่น, ครีมอาบน้ำผสมน้ำผึ้ง ซึ่งผลการนำสินค้าที่ได้รับการพัฒนาไปแสดงในงานสินค้าในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม และจีน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี" ผศ.พิชัย ระบุ
นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับมาตรฐานน้ำผึ้งไทย โดยเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งกับผู้รับซื้อน้ำผึ้งได้ร่วมกันเพื่อกำหนดเครื่องหมายรับรอง "น้ำผึ้งแท้ 100% ของไทย" เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพราะเครื่องหมายนี้จะช่วยยกระดับน้ำผึ้งไทยให้เกิดการยอมรับว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ 100% ซึ่งจะทำให้มีความต้องการน้ำผึ้งไทยเพิ่มขึ้นในประเทศที่มีการนำเข้าน้ำผึ้งไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะออสเตรเลีย, สเปน, เยอรมัน เป็นต้น