ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ รายงานต่อที่ประชุม คสช.เมื่อวานนี้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะมีโอกาสเติบโตได้ในระดับ 2.5% นั้น นายประสาร กล่าวว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามนั้นคือการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เป็นตัวจำกัดอำนาจการซื้อของผู้บริโภค ขณะที่ปัจจัยภายนอกเป็นเรื่องการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐและอังกฤษเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวบ้างแล้ว ส่วนสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ชัดเจนนัก
นายประสาร กล่าวว่า หากประเทศหลักต่างๆ ปรับนโยบายทางการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของไทย แม้ในปัจจุบันระบบการเงินของไทยจะมีเสถียรภาพและมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
สำหรับภาคการส่งออก ก็ยังต้องพึ่งพาภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า แม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ถือว่าล่าช้าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น การส่งออกคงยังไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากนักในปีนี้ และยังต้องติดตามนโยบายทางเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนการท่องเที่ยวขณะนี้ก็ยังเป็นช่วงโลว์ซีซั่น จึงต้องรอดูช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าว่าจะมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไร