พาณิชย์ยันธุรกิจไทยไม่กระทบจากข้อตกลงเปิดเสรีบริการชุดที่ 9 กับอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 9, 2014 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการเปิดเสรีภาคธุรกิจบริการชุดที่ 9 ภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ลงนามในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน(AEM) ระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค.นี้ ที่เมียนมาร์ว่า เป็นสาขาอาชีพที่เปิดเสรีเพิ่มเติมจากเดิมอีก 25 สาขา เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ เพราะเป็นสาขาที่เอกชนไทยไม่ได้ประกอบธุรกิจ และต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยสามารถลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) อยู่แล้ว
"ในแง่ผลกระทบของสาขาที่เปิดเพิ่มเติมในชุดที่ 9 คงไม่มี ซึ่งกรมฯ ได้สอบถามเอกชนในสาขาที่เปิดเพิ่มก่อนที่จะมีการเจรจาแล้ว และได้รับการยืนยันว่าไม่มีปัญหา และเป็นสาขาที่เปิดโดยไม่ต้องแก้กฎหมายภายในประเทศด้วย" นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการเปิดเสรีบริการตั้งแต่ชุดที่ 1-9 ไทยได้เปิดเสรีบริการตามกรอบอาเซียนรวมเป็น 104 สาขา จากทั้งหมด 128 สาขา โดยที่เหลืออีก 24 สาขาจะเปิดเสรีในกรอบภาคธุรกิจบริการชุดที่ 10 ซึ่งเป็นชุดสุดท้าย และต้องเปิดเสรีให้ทันภายในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในสิ้นปี 58

พร้อมยืนยันว่าโดยภาพรวมจากการเปิดเสรีนั้นไทยน่าจะได้ประโยชน์ เพราะธุรกิจไทยสามารถถือหุ้นในธุรกิจที่อาเซียนเปิดได้ในสัดส่วนสูงถึง 70% แต่การทำธุรกิจในไทย ได้กำหนดเงื่อนไขคือ ต้องมีผู้บริหารเป็นคนไทย ที่ดินต้องเป็นชื่อของคนไทย ห้ามต่างชาติถือครอง

สำหรับสาขาบริการที่เปิดเสรีเพิ่มเติมในบริการชุดที่ 9 ได้แก่ 1.บริการให้คำปรึกษาในการร่างเอกสารเกี่ยวกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ไม่รวมกฎหมายภายในประเทศ 2.บริการจัดทำบัญชี สำหรับยื่นภาษีให้กับบริษัทในเครือหรือในกลุ่มของบริษัทต่างชาติ 3.บริการจัดเตรียมและวางแผนภาษีบุคคลให้กับพนักงานของบริษัทกลุ่มในเครือ 4.บริการศึกษาโครงการเบื้องต้นและให้คำปรึกษาด้านสถาปัตยกรรม 5.บริการให้เช่าเรือที่ไม่ได้ชักธงไทย และไม่มีผู้ปฏิบัติการ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ