นอกจากนี้ หัวหน้า คสช.ยังให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความโปร่งใส และการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมอบหมายให้ สคร.ไปดำเนินการสรรหากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อความโปร่งใสในรัฐวิสาหกิจไทย โดยให้นำรูปแบบจากต่างประเทศ อาทิ ระบบการประมูลงานจากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) เป็นต้น
ที่ประชุมฯ ยังได้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจในองค์รวม โดยให้แต่ละรัฐวิสาหกิจเสนอแผนการปรับปรุงงานที่รูปธรรม โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวจะเป็นผู้ตรวจสอบและช่วยดูแผนงานควรจะมีการปรับปรุงในด้านใด 2.คณะอนุกรรมการกำหนดกรอบทิศทางแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันในระบบสากลได้
และ 3.คณะอนุกรรมการพัฒนากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในระยะยาว โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาบอร์ดและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และการวางรากฐานกระบวนการทำงาน การจัดซื้อจัดจ้าง ด้านบัญชี และการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ธรรมาภิบาล ซึ่งคณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดจะดำเนินการจัดตั้งขึ้นให้เรียบร้อยภายในสัปดาห์หน้า
ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการตัดสิทธิประโยชน์ของผู้ที่เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ รวมถึงพิจารณาแผนโครงการลงทุนมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทของแต่ละรัฐวิสาหกิจ แต่ในเรื่องนี้ สคร.กำลังรวบรวมพิจารณาอยู่ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ สคร. โดยขณะนี้มีทั้งโครงการที่มีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านบาท และ 1 แสนล้านบาท ที่ยังเสนอเข้ามา
ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า การที่จะนำงานด้านความมั่นคงเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐวิสาหกิจนั้นก็เพื่อเพิ่มความมั่นคง เพิ่มศักยภาพ ในแต่ละรัฐวิสาหกิจให้เกิดการแข่งขัน และที่ประชุมฯ ไม่ได้มีการพูดถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการประชุมว่า ซุปเปอร์บอร์ดจะต้องทำหน้าที่สร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน เพราะการทำงานของรัฐวิสาหกิจจะกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น การทำงานจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ร่วมกันแก้ปัญหาที่เป็นข้อบกพร่องของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งอาจต้องแทรกงานด้านความมั่นคงเข้าไปในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่เออีซี