สำหรับในปี 2557 ตั้งเป้าขยายปริมาณบัตรเพิ่มอีก 200,000 ใบ โดยเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าประเภทสหกรณ์
ส่วนผลการดำเนินงานโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 มียอดบัตรทั้งสิ้น 4 ล้านใบ มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตร 43,566.27 ล้านบาท จำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 12,265 ร้านค้า และมีหนี้ที่ผิดนัดชำระ 0.36%
ทั้งนี้ จากการประเมินผลโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจในการใช้บัตรและมีความคาดหวังสูงในการใช้บัตรเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในฤดูการผลิตถัดไป เนื่องจากไม่มีความยุ่งยากในการใช้งานและมีความสะดวกเพราะมีร้านค้าที่รับบัตรเป็นจำนวนมาก โดยร้านค้าส่วนใหญ่เป็นร้านที่เกษตรกรมีความคุ้นเคย เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่นั้นๆ และยังมีระบบการควบคุมมาตรฐาน Q-Shop ที่กรมวิชาการเกษตรเข้ามาดูแล ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ซื้อไปมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีสินค้าที่จำเป็นต่อการผลิตให้เลือกหลากหลาย อีกทั้งยังมีความปลอดภัยกว่าการถือเงินสด ในกรณีมีความจำเป็นต้องหาปัจจัยการผลิตมาใช้ ก็สามารถนำบัตรมาใช้แทนเงินสดได้ทันทีหรือทันต่อความต้องการ ทำให้สะดวกสบายและรู้สึกอุ่นใจ อีกทั้งยังสามารถซื้อปัจจัยการผลิตผ่านบัตรในราคาเท่ากับหรือถูกกว่าราคาตลาด โดยบางสินค้าให้ส่วนลดเพื่อชดเชยดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาอีก 4 เดือน รวมกับที่ธ.ก.ส.ให้เครดิตอีก 1 เดือนรวมเป็น 5 เดือน ทำให้ลดต้นทุนในเรื่องดอกเบี้ย
การใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรยังส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคเนื่องจากมีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น โดยผลจากการประเมินดังกล่าวยังระบุว่า เกษตรกรที่ใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 36.7% เนื่องจากการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตสำหรับใช้ในการลงทุน ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันเกษตรกรยังสามารถลดภาระหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ถึง 38.1% และลดภาระหนี้นอกระบบลงได้อีก 32.2% นอกจากนี้ร้านค้าที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตที่เข้าร่วมโครงการยังมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 86.21%