ส่วนการชำระหนี้ของรัฐบาลจากแหล่งอื่น เป็นจำนวน 8,129.60 ล้านบาท ประกอบด้วย การชำระคืนต้นเงินกู้ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 จำนวน 309 ล้านบาท โดยใช้เงินส่วนเกินจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ที่สะสมอยู่ในบัญชีเงินฝากจากเงินกู้เพื่อการบริหารหนี้, การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1) จำนวน 3,523.46 ล้านบาท เป็นการชำระดอกเบี้ยทั้งจำนวน โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2, การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก.ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระยะที่สองฯ (FIDF 3) จำนวน 4,297.14 ล้านบาท แบ่งเป็นการชำระต้นเงินกู้ 141.38 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1 ที่ได้รับจากการโอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ รวมถึงการชำระดอกเบี้ยจำนวน 4,155.76 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2
ทั้งนี้ แหล่งเงินที่นำเข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 2 ประกอบด้วย (1) เงินกำไรสุทธิของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 (2) เงินที่สถาบันการเงินนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย (3) เงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ (4) เงินโอนจากบัญชีกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ฯ
ขณะที่การกู้เงินในประเทศของรัฐบาลนั้น กระทรวงการคลังได้กู้เงิน 1.เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณโดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ 1,182.93 ล้านบาท 2.การเบิกจ่ายเงินกู้ต่อให้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ม.)เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จำนวน 487.59 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 357.11 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จำนวน 463.35 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง จำนวน 26.87 ล้านบาท และ 3.การเบิกจ่ายเงินกู้ 650 ล้านบาท จากสัญญาเงินกู้วงเงิน 3,000 ล้านบาท ที่ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อวันที่ 9 ม.ค.57 ซึ่งเป็นการกู้เงินบาททดแทนเงินกู้จากธนาคารโลกเพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(DPL) ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลนั้นไม่มี
การรายงานการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลจะไม่รวมการ Roll over ตั๋วเงินคลัง เนื่องจากการกู้เงินโดยการออกตั๋วเงินคลังเป็นการกู้ในรูปเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรักษาระดับเงินคงคลังให้เพียงพอกับการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยการกู้เงินในขณะหนึ่งจะไม่เกินวงเงินที่กำหนด โดย ณ ต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มีวงเงินตั๋วเงินคลังเพื่อใช้ในการบริหารเงินสดรับ-เงินสดจ่ายของรัฐบาล จำนวน 102,135 ล้านบาท และกระทรวงการคลังจะทำการ Roll over ตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนดตามอายุของตั๋วเงินคลังในแต่ละรุ่น
สำหรับการกู้เงินล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐบาลนั้น มีการกู้เงินล่วงหน้า(Pre-funding) เป็น R-bill จำนวน 25,800 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรออมทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 13 ก.ค.57 จำนวน 30,000 ล้านบาท เนื่องจากในวันดังกล่าวจะมีพันธบัตรออมทรัพย์ภายใต้ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งครบกำหนดอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท ทำให้ในวันที่ 13 ก.ค.57 จะมีพันธบัตรครบกำหนดชำระรวม 80,000 ล้านบาท ทั้งนี้จะนำเงินกู้ล่วงหน้าที่ได้ไปให้กองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศบริหารลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ให้เกิดผลตอบแทนและลดต้นทุนในการทำ Pre-funding
ขณะที่การบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นผลการกู้เงินในประเทศเป็นเงิน 91,818 ล้านบาท มีการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศเป็นเงิน 9,782 ล้านบาท แต่ไม่มีการบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจเพื่อลดต้นทุนเงินกู้และป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน