ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หลักการสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าว คือ ยึดชาวนาเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการข้าวไทยให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และพัฒนาข้าวไทยให้เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ พร้อมทั้งการสร้างความอยู่ดีกินดีของชาวนาไทยให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น จึงได้มีการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน จัดทำข้อเสนอเป็นยุทธศาสตร์ “อนาคตข้าวและชาวนาไทย" ในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนให้กับชาวนาไทย
ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. ยุทธศาสตร์ ที่ 1 : การพัฒนาข้าวและชาวนาไทย โดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อพัฒนาข้าวและชาวนา เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ชาวนาและชุมชนชาวนารวมทั้งเป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการผลิต และการค้าข้าวภายในชุมชน, สร้าง Smart Farmer เพื่อยกระดับมาตรฐานชาวนา ให้เป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ มีผลงานดีเด่นในเรื่องการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การรักษาคุณภาพพันธุ์ข้าว การคิดค้นเทคโนโลยีภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิต รวมทั้ง ให้เชิดชูกลุ่มเกษตรกร หรือ วิสาหกิจชุมชน ที่มีความเข้มแข็ง หรือ ที่ประสบความสำเร็จ, ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตข้าวคุณภาพ เพื่อสร้างความจำเพาะในตัวของสินค้า (Niche Product) เช่น การปลูกข้าวพันธุ์พิเศษ หรือ ข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ พร้อมกับการสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมต่อในห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่คุณค่าให้เข้มแข็ง และเป็นทางเลือกใหม่เพื่อให้สินค้าข้าวจากชุมชนสู่ตลาดจำเพาะ (Niche Market) และการพัฒนาระบบ Value Chain ให้เข้มแข็ง เพื่อเชื่อมโยง Supply Chain สร้างความเชื่อมโยงชาวนารายย่อยของหน่วยการผลิตต้นน้ำ เข้ากับผู้ประกอบและกิจกรรมการตลาดกลางน้ำ และรวมถึงผู้บริโภคปลายน้ำ ในรูปแบบของการจัดการห่วงโซ่อุปทา ร่วมกัน และมีการจัดแบ่งผลประโยชน์ในแต่ละฝ่ายที่เป็นธรรม (Fair Trade) เพื่อสร้างต้นแบบในการพัฒนาข้าวไทย โดยกระจายในทุกภูมิภาค ทั้งนี้รัฐบาลสนับสนุนด้านงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ ที่ 2 : เกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ด้วยการส่งเสริมระบบวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือ กลุ่มเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนในการผลักดันการเกษตรที่มุ่งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และมีการบริหารจัดการร่วมกันของชุมชน ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น, การรวมแปลงการผลิตเป็นพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสามารถใช้เครื่องจักรการเกษตร (Mechanization) ในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และขนส่ง อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สำคัญในการทำให้เศรษฐกิจข้าวไทยมีความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป
ยุทธศาสตร์ ที่ 3 : เขตเกษตรเศรษฐกิจทางเลือก (Alternative Crops Zoning) เป็นมาตรการทางเลือก ไม่ได้บังคับ และใช้หลักการตลาดนำ โดยภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม, มีการปรับเปลี่ยนพืชเศรษฐกิจอื่น ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ประกอบด้วย อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน, รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบชลประทาน ระบบการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาแหล่งน้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการเกษตร
ยุทธศาสตร์ ที่ 4 : การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในการผลิต การต่อยอดการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย, การพัฒนาระบบการประกันภัยการผลิตข้าวและพืชผลการเกษตร เพี่อเป็นหลักประกันจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อให้ตลาดการรับประกันภัยเอกชน เข้ามามีบทบาทในการป้องกันความเสี่ยงให้กับชาวนา ทั้งในด้านผลผลิต และราคาได้ครอบคลุมในวงกว้างมากขึ้น, จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาข้าวและชาวนาไทย เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย รวมทั้งเทคโนโลยีการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้ง ช่วยประกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาไทย โดยอาจจะนำเงินเข้ากองทุน โดยพิจารณานำเงินจาก 1) กระทรวงการคลัง โดยเรียกเก็บค่าธรรมอัตราร้อยละ 1 จากผู้ส่งออก (แทนภาษี หัก ณ. ที่จ่าย 0.75ที่เรียกเก็บจากโรงสี ) 2) เงินโควต้าสหภาพยุโรป ที่กระทรวงพาณิชย์เรียกเก็บจากผู้ส่งออก เพื่อนำมาเป็นกองทุนฯ ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท, จัดตั้งคณะกรรมการ Rice Board โดยมี Stakeholders หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็น คณะกรรมการ อาทิ ผู้แทนชาวนา โรงสี ผู้ส่งออกข้าว ภาคราชการ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น โดยบทบาทของ Rice Board จะทำหน้าในการที่กำหนดทิศทางอนาคตของข้าวไทย, การจัดทำแผนแม่บทข้าวและชาวนาไทย โดยให้คณะกรรมการ Rice Board เป็นผู้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาข้าวและชาวนาไทย เพื่อเป็นทิศทางอนาคตของข้าวไทยตามยุทธศาสตร์ (Road Map) ข้าวไทย ในอนาคตอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ ที่ 5 : การตลาดข้าวไทย โดยรัฐบาลต้องส่งเสริมกลไกการตลาดเสรี โดยเปิดเอกชนได้มีการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง โดยรัฐบาลเป็นผู้รักษากฎ ระเบียบ ผ่านคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.), ปรับปรุงตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ให้สามารถเป็นตลาดที่สะท้อนราคาสินค้าเกษตรได้อย่างแท้จริง โดยการส่งเสริมให้ตลาดเติบโต จากการมีผู้ลงทุนมากขึ้น โดยการนำตลาดสินค้าล่วงหน้าออกจากการดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ให้ไปอยู่ในการดูแลของตลาดหลักทรัพย์, แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในระบบการตลาดข้าว เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดข้าวไทยและสร้างความโปร่งใส ในการเปิดเผยข้อมูล ตัวเลขการค้าการส่งออก ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
นอกจากนั้น ยังมีการเตรียมแผนงานเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปการเกษตรที่จะเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมอาหารและพลังงานทดแทน โดยเน้นสินค้าทางเกษตรหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพของห่วงโซ่คุณค่า (Creating Effective Value Chain) สอดคล้องกับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรของ คสช.เรื่อง การจัดสรรพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ดูแลระบบชลประทาน ระบบป้องกันอุทกภัย จัดทำโซนนิ่งพื้นที่ในการเพาะปลูกให้มีความเหมาะสม และ 1 ใน 9 ยุทธศารตร์หลักที่ คสช.ยึดถือเป็นแนวทางในปัจจุบัน คือ “ยุทธศาตร์สร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน"
ปัจจุบัน ประเทศไทย มีเกษตรกรจำนวนกว่า 17 ล้านคน คิดเป็น 43% ของภาคแรงงาน และ 22% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมดที่มีจำนวน 64.5 ล้านคน นอกจากนี้ ประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูก 149 ล้านไร่ โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า มีพื้นที่ปลูกข้าว 70 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวในเขตเหมาะสมและเหมาะสมปานกลาง ประมาณ 43 ล้านไร่ และมีพื้นที่ปลูกข้าวที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมประมาณ 27 ล้านไร่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปปลูกพืชเกษตรอื่นที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนสูงกว่า การปฏิรูปด้านการเกษตรดังกล่าว จะมุ่งเน้นเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง ด้วยการจัดการเกษตรสมัยใหม่ การเพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพด้านแรงงาน สามารถนำผลผลิตมาพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้และลดต้นทุนให้กับเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการปฏิรูปดังกล่าวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนนายปราโมทย์ วานิชานนท์ ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ข้าว หอการค้าไทย, ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาไทย ,อดีตคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ข้อเสนอยุทธศาสตร์ข้าวของหอการค้าไทย เป็นหลักคิดที่สามารถตอบโจทย์ในเชิงนโยบายได้ โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการ Rice Board ที่จะมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าวเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้กำหนดทิศทางอนาคตข้าวไทยได้เป็นอย่างดี เพราะในอดีตชาวนาไม่มีโอกาสกำหนดอนาคตของตัวเอง นักการเมืองเป็นผู้กำหนดให้ โดยเลือกให้น้ำหนักไปในทางการชดเชยราคาข้าว และไม่ได้สนใจเรื่องการพัฒนาทั้งระบบ ทำให้โครงสร้างการผลิตซ้ำๆ ไม่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการ จะต้องกำหนดออกมาเป็นนโยบายของรัฐ โดยเปลี่ยนวิธีคิด มีระบบการบริหารจัดการ รู้ถึงปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งหากพบวิธีแก้ปัญหาแล้ว จะต้องมาดูว่าใครจะเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ต่อไป
“ปัญหาที่ผ่านมา คือ ทุกภาคส่วนขาดการมีส่วนร่วม จึงยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้จัดทำเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศในครั้งนี้อาจจะเป็นหอการค้าไทยร่วมกับปราชญ์ชาวนา หากมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จะทำให้นักการเมืองที่เข้ามาทีหลัง ไม่กล้าเข้ามายกเลิกยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้เขียนไว้ก่อน" นายปราโมทย์ กล่าวในตอนท้าย