หลักการของดูแลหนี้นอกระบบจะต้องเป็นรูปแบบหน่วยงานเฉพาะ เนื่องจากต้องดูแลพฤติกรรมของลูกหนี้ ติดตามความเคลื่อนไหว อาจจะกำหนดระยะเวลาทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน ให้ความรู้และความช่วยเหลือในการสร้างรายได้ เพราะในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมาในอดีต เมื่อช่วยเหลือไปแล้วก็พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ก็จะกลับไปกู้เงินนอกระบบอีก เพราะไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้น เมื่อเจรจากับเจ้าหนี้และลูกหนี้แล้ว กองทุนก็จะเข้าไปช่วยเหลือภาระหนี้ และคิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้ในอัตราที่ต่ำกว่า จากนั้นต้องดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้กลับไปกู้นอกระบบอีก
ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนมียอดล่าสุด 9.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 82% ของผลผลิตมวลรวมของประเทศ
สำหรับเม็ดเงินกองทุนอาจจะมีขนาดวงเงินราว 2-3 หมื่นล้านบาท โดยจะเสนอให้สถาบันการเงินของรัฐแห่งอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เพราะจะให้ธนาคารออมสินรับภาระคนเดียวคงไม่ไหว และคงต้องให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในขั้นตอนท้ายสุดที่ลูกหนี้ที่ได้รับการแก้ไขก็อาจจะกลายเป็นหนี้เสีย โดยภาครัฐอาจจะเข้ามารับภาระชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกองทุนดังกล่าวด้วย