(เพิ่มเติม) ธปท.เผย H2/57 ให้น้ำหนักพัฒนาการด้านการเงินระหว่างประเทศ ดูแล GDP-เงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 15, 2014 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ในช่วงครึ่งปีหลังจะให้น้ำหนักในเรื่องการพัฒนาด้านตลาดการเงินระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) และอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในขณะนี้ยังสามารถดูแลความเสี่ยงที่จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ดี

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาค่อนข้างมีความผ่อนคลาย เพื่อช่วยดูแลความเสี่ยงต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบปีที่ผ่านมา และจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งล่าสุด พบว่าปัจจัยความเสี่ยงที่จะมีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มลดน้อยลงแล้ว หลังจากที่การเมืองในประเทศมีความสงบ ขณะที่ผลกระทบด้านการบริโภคก็ลดน้อยลงจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ความเชื่อมั่นในการลงทุนเริ่มกลับมา

"โจทย์ในครึ่งปีหลังจะดูความเสี่ยงภัยใน 2 ด้านว่าเป็นอย่างไร(การขยายตัวทางเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ) เราจะให้น้ำหนักประกอบไปกับการพัฒนาการในตลาดการเงินระหว่างประเทศด้วย ซึ่งเราจะนำมาพิจารณาประกอบกัน" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

ส่วนความกังวลเรื่องความไม่สมดุลย์ทางการคลังในระยะยาวนั้น ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแนวโน้มด้านรายได้จะเพิ่มขึ้นไม่เร็วนัก ในขณะที่แนวโน้มรายจ่ายจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า โดยจะเห็นว่าจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วงหลังมานั้น สัดส่วนของงบรายจ่ายประจำจะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ ระยะหลังมีมาตรการที่ใช้เงินนอกงบประมาณในอัตราสูง เช่น มาตรการจำนำข้าว สิ่งเหล่านี้แม้จะยังไม่สร้างปัญหาใหญ่ แต่ในระยะยาวหากไม่ได้รับการดูแลก็จะทำให้ขาดความสมดุลย์ทางด้านการคลังได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

"ระยะหลังมีแนวโน้มเชิงปฏิบัติที่ระดับการเมืองนิยมใช้รายจ่ายนอกงบประมาณในหลายรูปแบบ บางอันก็ไปทิ้งไว้ในบัญชีของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือพยายามออกเป็น พ.ร.ก.เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มนี้จะเพิ่มน้ำหนักของปัญหา ดังนั้น หน้าที่ของ กนง.-กนส.หลังจากเช็คดูแล้วว่ามีความเสี่ยงภายใต้เสถียรภาพต่อระบบการเงิน หรือต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของเราในด้านใดบ้าง แม้เป็นเรื่องระยะยาวก็ต้องช่วยกันคิดอ่าน"นายประสาร กล่าว

ส่วนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ขอให้ ธปท.ช่วยดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพนั้น ยืนยันว่าธปท.จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ หากมีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงระดับที่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจของประเทศ ธปท.ก็จะเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ มองว่าทิศทางของค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาถือว่ามีเสถียรภาพดี เพราะหากเปรียบเทียบเงินบาทกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่งตลาดการเงินมีความเชื่อมั่นในสกุลเงินบาทของไทย

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ระดับในปัจจุบัน ธปท.มองว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการลงทุน เพราะหากจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อช่วยเรื่องการส่งออก ก็จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในสภาวะที่ประเทศกำลังต้องการการลงทุน และ ธปท.ก็ต้องการเห็นการขยายตัวด้านการส่งออกที่เติบโตมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว

"ในระยะยาวนั้น อยากจะเห็นการส่งออกเติบโตโดยคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ไม่ใช่แค่พึ่งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว เพราะหากจะให้เงินบาทอ่อน ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ซึ่งตอนนี้ประเทศเรากำลังต้องการการลงทุน และหากมีการทำให้บาทอ่อนไปกว่าปกติ ก็จะเป็นเชื้อให้นักเก็งกำไรเอาเงินไหลเข้ามามากๆ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะสวนทางกับสิ่งที่เราอยากจะเห็น คือเงินบาทจะแข็ง ดังนั้นการดูแลค่าเงินต้องอยุ่ที่ความพอดี และสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ"ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

ส่วนการที่สหรัฐจะยกเลิกมาตรการ QE ในเดือน ต.ค.นั้น ธปท.มั่นใจว่ามาตรการที่มีอยู่จะสามารถดูแลสถานการณ์ภายหลังจากที่สหรัฐยกเลิก QE อย่างสมบูรณ์ได้ คาดว่าการยกเลิก QE จะเกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ในอีก 1-2 ครั้งหน้า โดยยืนยันว่า ธปท.ได้ดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินของไทยให้มีภูมิต้านทานที่ดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจมหภาคในด้านต่างๆ ที่ต้องทำให้เกิดความสมดุลย์ ซึ่งสิ่งไหนที่เริ่มจะเห็นว่าไม่สมดุลย์และไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ ธปท. ก็อาจจะมีการออกมาแนะนำหรือกล่าวเตือนบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังเชื่อว่าจากเครื่องมือทั้งหมดที่ ธปท.มีอยู่ยังสามารถดูแลสถานการณ์ได้

"ถ้าด้านไหนไม่สมดุลย์และไม่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา เราก็จะออกมาพูดบ้าง เช่นเมื่อวานนี้ที่ กนง.ประชุมร่วม กนส.ที่เราเห็นว่าต้องดูเรื่องดุลการคลังระยะยาว ซึ่งเราจะพยายามดูแลเศรษฐกิจมหภาคในด้านสำคัญที่จะเป็นปัญหาหรือบ่อเกิดการขาดเสถียรภาพ เราจะพยายามดูแลอย่างเนิ่นๆ" นายประสาร กล่าว

ส่วนความกังวลเรื่องการเปิดเสรีด้านการเงินการธนาคารที่แนวโน้มอาจจะมีการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคมากขึ้นนั้น ผู้ว่าการ ธปท.เชื่อว่าในเชิงการแข่งขันกับต่างประเทศแล้วไม่ได้มีอะไรที่เข้มข้นไปกว่าสิ่งที่ ธปท.ได้ดำเนินการมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโจทย์ที่น่าสนใจในการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ในอนาคตหลัง ไม่ใช่เพียงแค่การที่ธนาคารจะมีเงินกองทุนเพิ่มมากขึ้น การมีศักยภาพทางการแข่งขันมากขึ้น และการได้เปรียบคู่แข่งจะมากขึ้น แต่ต้องพิจารณาลงไปด้วยว่าเมื่อควบรวมกิจการกันแล้วเงินกองทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นก่อให้เกิดความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันจริงหรือไม่ และการควบรวมกิจการกันนั้นทรัพย์สินที่ควบรวมกันแล้วจะสามารถเกื้อหนุนกันได้จริงหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการมีกองทุนที่มากขึ้นก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ