สำหรับมาตรการ 8 ข้อ แบ่งเป็น มาตรการเร่งด่วนที่สามารถทำได้ทันที โดยประกาศเป็นนโยบายของรัฐ โดยไม่ต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมาย ได้แก่ สร้างความไว้วางใจและมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐเป็นผู้นำสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน กำหนดให้มีมาตรฐานที่โปร่งใสในกระบวนการให้บริการของภาครัฐ รวมถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจ
ส่วนอีก 4 มาตรการสำคัญเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ได้แก่ แก้ปัญหาเกี่ยวกับใบอนุญาตที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและนักธุรกิจมานาน แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอและให้มาตรการอื่นๆปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาประชาชนโดนเอารัดเอาเปรียบ และการสร้างมาตรการทางกฎหมายติดตามจับกุมลงโทษคนโกง
นอกจากนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีระหว่างภาคธุรกิจและเอกชนทั้งหมดเพื่อหาข้อสรุปแนวทางการปฎิรูปประเทศไทย เพื่อนำเสนอให้ทันต่อการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศของ คสช. ในเดือน ส.ค. นี้
ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสร้าง "องค์กรต้นแบบ" ที่เข้มแข็ง ปฏิเสธการครอบงำของนักการเมือง และสร้างความโปร่งใสในการทำหน้าที่ และให้บริการแก่ประชาชน
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศมาตรการแนวทาง และความพยายามในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในธุรกิจตลาดทุน ด้วยการกดดันและตรวจสอบจากภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน
"หากทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทยก็จะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นพร้อมสนับสนุนเพื่อสร้างกระแสสังคม และมีการเก็บข้อมูลของทั้ง 2 องค์กรเพื่อนำไปเผยแพร่ให้กับหน่วยงานทั้งภาคราชการ และเอกชนเพื่อเป็นตัวอย่างต่อไป" นายประมนต์ กล่าว