ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังรักษาระดับการลงทุนหรือมีแผนจะขยายการลงทุนในไทย อันดับหนึ่ง ได้แก่ การมีบริษัทรับช่วงการผลิต(ซัพพลายเออร์) รวมถึงมีวัตถุดิบที่เพียงพอ อันดับสอง มีความมั่นใจกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อันดับสาม ประเทศไทยมีความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อันดับสี่ ค่าจ้างแรงงานฝีมือมีความเหมาะสม เป็นต้น ซึ่งหากเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว พบว่าไทยเป็นรองเพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวเท่านั้น
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติ ต้องการขยายการลงทุนในไทย พบว่า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง เป็นกลุ่มที่ต้องการขยายการลงทุนสูงสุด รองลงมาคืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก
"ผลสำรวจครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังมีมุมมองต่อการลงทุนในประเทศไทยในทิศทางที่ดี ส่วนใหญ่ยังรักษาระดับและขยายการลงทุน สอดคล้องกับบรรยากาศการลงทุนในปัจจุบัน ภายหลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้มีการพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้วจำนวน 18 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 122,837 ล้านบาท รวมทั้งมีการอนุมัติและกลั่นกรองโครงการจากคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการเป็นประจำทุกสัปดาห์ จะมีส่วนช่วยให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
นอกจากแผนการลงทุนในประเทศไทยแล้ว ผลสำรวจยังระบุถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ พบว่านักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าในปี 2558 จะมีผลประกอบการดีขึ้น ทั้งในส่วนของรายได้รวม ทั้งรายได้จากตลาดในประเทศ และจากตลาดต่างประเทศ รวมถึงกำไรของบริษัท ขณะที่ภาระหนี้สินและเงินลงทุนใกล้เคียงกับปี 2556 นอกจากนี้ มาตรการสำคัญที่นักลงทุนต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการ คือ ปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ อาทิ ยกเลิกขั้นตอนหรือวิธีการต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ตามด้วยเรื่องเข้มงวดในมาตรการป้องกันการคอรัปชั่นอย่างจริงจัง และการปรับปรุงระบบภาษีศุลกากรให้มีขั้นตอนที่สะดวกมากขึ้น
ส่วนระดับความพึงพอใจกับการบริการที่ได้รับจากบีโอไอเมื่อเทียบกับปี 2556 เพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนพอใจกับสิทธิประโยชน์การลงทุนที่ได้รับจากบีโอไอสูงสุด รองลงมาคือบริการที่ได้รับจากศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน บริการที่ได้รับจากศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน(OSOS)
อนึ่ง ผลศึกษาและวิเคราะห์ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ประจำปี 2557 นี้ บีโอไอมอบหมายให้ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำขึ้นระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.57 โดยนักลงทุนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วน 53% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดประมาณ 600 ราย