โดยปกติแล้วก่อนที่จะครบกำหนด 6 เดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการพิจารณาร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม สถานการณ์ค่าครองชีพ ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมจากเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านมาประกอบการพิจารณาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราภาษี VAT หรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่าอัตราภาษี VAT ของไทยที่ 7% ถือว่าต่ำสุดในอาเซียนแล้ว จากที่บางประเทศมีการเรียกเก็บสูงถึง 15%
"การจะต่อหรือไม่ต่ออายุนั้น ปกติแล้วในช่วงก่อนจะหมดอายุ 6 เดือนจะมีการพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจกันว่าการกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นอย่างไร ภาวะค่าครองชีพเป็นอย่างไร ต้องมองภาพรวมหลายๆ อย่าง ก่อนจะตัดสินใจว่าจะยังคงเป็น 7 หรือเป็น 8 หรือเป็น 10 ต้องมองปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน มันเป็นเรื่อง sensitive พอสมควร" อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวต่อว่า คสช.เล็งเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาเป็นช่วงขาลง ประชาชนหรือผู้มีรายได้น้อยมีความลำบาก คสช.เห็นว่าช่วงนี้เศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มมาเป็นขาขึ้น ดังนั้นจึงเห็นว่าให้เก็บที่อัตรา 7% ต่อไปอีกปี เพื่อมิให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อภาวะค่าครองชีพทั้งหลาย
"ตอนที่ผมเข้าไปชี้แจงกฎหมายต่อพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่จะขยายเวลา 7% ออกไปอีกนั้น ท่านได้สอบถามว่าประชาชนจะมีผลกระทบมากน้อยอย่างไร ท่านเป็นห่วงประชาชนพอสมควร" อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ
ทั้งนี้ ภายหลังจากครบกำหนด 1 ปีแล้ว คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.58 จะมีการเรียกเก็บภาษี VAT ในอัตรา 10% ตามเพดานสูงสุดที่มีอยู่เดิมตามกฎหมายหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลในขณะนั้นที่จะตัดสินใจ แต่หากหลังจาก 1 ต.ค.58 ไปแล้วไม่มีการขยายเวลาการจัดเก็บภาษี VAT ที่ 7% ออกไปอีก ก็จะกลายมาเป็นอัตราภาษีที่ 10% โดยอัตโนมัติทันที
อนึ่ง การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% นั้น เป็นการรวมอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 6.3% และภาษีท้องถิ่นอีก 0.7% ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 10% ตามเพดานสูงสุดที่มีอยู่เดิมในกฎหมายนั้น หมายถึงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 1%
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า ยังอยู่ระหว่างการรอประกาศจาก คสช. ในการคงอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราขั้นบันได 7 ขั้น คือ ระหว่างอัตรา 5-35% ออกไปอีก 1 ปี จากอัตราเดิม 5 ขั้น เพื่อความสมดุลและเป็นธรรม รวมถึงให้คงการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตรา 20% จากอัตราเดิม 30% ออกไปอีก 1 ปี เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนด้วย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะมีการพิจารณายืดอายุการให้สิทธิด้านภาษีในกองทุน LTF แต่อย่างใด เนื่องจากเห็นว่ายังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาเรื่องนี้ เพราะสิทธิด้านภาษีดังกล่าวจะหมดอายุลงในปี 2559 จึงมองว่ายังมีเวลาที่จะพิจารณาอีกมาก ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในต้นปี 2559 โดยระหว่างนี้ขอเก็บข้อมูลต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด