1. บริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเบเกอรี่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,450 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 25,900 ตัน ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จังหวัดกรุงเทพฯ โดยโครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบทั้งหมด ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผัก ไข่ น้ำมันพืชและน้ำตาล ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนทางอ้อมแก่อุตสาหกรรมเกษตรในประเทศด้วย
2.บริษัท ครบุรีไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเอทานอล 99.5% เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,098.5 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 60 ล้านลิตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยโครงการนี้เป็นการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วัสดุการเกษตร และเป็นการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในประเทศ ทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิง ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงาน
3. บริษัท อาซาฮี คาเซอิ สปันบอนด์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตผ้า ผลิตภัณฑ์ NON-WOVEN FABRIC ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการผลิตผ้าอ้อมสำเร็จรูป เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,758 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 17,200 ตัน ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่าปีละประมาณ 820 ล้านบาท และเป็นการผลิตเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตผ้าอ้อมสำเร็จรูปในประเทศด้วย
4. บริษัท การ์เดียนอินดัสทรีส์ ระยอง จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตกระจกเคลือบผิวกันรังสี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 86,000 ตัน ตั้งโครงการที่เขตอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดระยอง โดยกระจกเคลือบผิวกันรังสีจากโครงการนี้ เป็นกระจกประหยัดพลังงานและลดการใช้พลังงานของอาคารสมัยใหม่ และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมผลิตหน้าต่างสำเร็จรูป และลดการนำเข้ากระจกเคลือบผิวกันรังสี รวมถึงช่วยลดการใช้พลังงานในประเทศ
5.บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 หรือ อีโคคาร์ 2 เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,727.5 ล้านบาท กำลังการผลิตรถยนต์ปีละประมาณ 158,000 คัน กำลังการผลิตชิ้นส่วนปีละประมาณ 200,000 ชิ้น ตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง โดยโครงการนี้ถือเป็นโครงการแรกที่ได้รับส่งเสริมให้ผลิตอีโคคาร์ 2 และตามแผนงาน จะมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีแผนพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และผู้ผลิตแม่พิมพ์ของไทยด้วย
6.บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและไอน้ำ เงินลงทุนทั้งสิ้น 798 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 9.8 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวมวล และมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงาน
7. บริษัท ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,056 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 105 เมกะวัตต์ ตั้งโครงการที่จังหวัดชัยภูมิ โดยโครงการนี้จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศ และเป็นโครงการที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานลม รวมทั้งมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงาน
สำหรับโครงการที่ 8 – 12 กลุ่มบริษัท นทลิน เวลสตาร์ เอ็นเนอจิ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมจำนวน 5 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 5 โครงการ 9,753.5 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 274 เมกะวัตต์ โครงการตั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ 3 โครงการ และตั้งที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดละ 1 โครงการ โดยโครงการทั้งหมดจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศเยอรมนี และเป็นโครงการที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานลม รวมทั้งมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงาน
13. บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ได้รับส่งเสริมให้เพิ่มกำลังการผลิตกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล โดยจะเพิ่มการขนถ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ปีละประมาณ 1 ล้านตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,285 ล้านบาท โครงการอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยโครงการนี้จะช่วยเพิ่มจุดรับก๊าซ LPG ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงจุดเดียวและไม่เพียงพอต่อการขนถ่ายก๊าซ LPG
14.บริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เงินลงทุนทั้งสิ้น 12,500 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 246.5 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 343 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งจะนำอากาศเสียที่มีความร้อนสูงมาใช้ต่อ ช่วยประหยัดพลังงานในการผลิตไฟฟ้า และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
15.บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 5 จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,600 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 142 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง โดยโครงการนี้เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งจะนำอากาศเสียที่มีความร้อนสูงมาใช้ต่อ ช่วยประหยัดพลังงานในการผลิตไฟฟ้า และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
"ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งบอร์ดบีโอไอได้ประชุมเป็นครั้งแรก จนถึงวันนี้ 18 กรกฎาคม บอร์ดบีโอไอได้ประชุมครั้งที่ 2 และในช่วงดังกล่าวก็มีการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการหลายครั้งด้วย ทำให้สามารถอนุมัติให้การส่งเสริมโครงการลงทุนรวมทั้งสิ้น 92 โครงการ เงินลงทุนรวม 258,678 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ค้างการพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 742,890 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสามารถดำเนินงานได้น่าพอใจ และคาดว่าจะสามารถพิจารณาและอนุมัติโครงการที่ค้างอยู่ทั้งหมดได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้" นายอุดม กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯได้มีการหารือและพิจารณาในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก คือ เรื่องเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้มีการเสนอคณะอนุกรรมการนโยบายพิจารณาไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและได้นำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาในวันนี้ โดยกรอบนโยบายใหม่เดิมได้มีการกำหนดไว้ในระยะ 5 ปี แต่เพื่อให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงมีการขยายระยะเวลาออกไป อีก 2 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างในช่วงปี 2558 – 2564
ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ดังกล่าว ได้มีการดำเนินการโดยกำหนดเป้าหมายไว้หลายเรื่อง โดยเป้าหมายหลักจะเป็นการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจะเน้นการปรับประเภทของกิจการที่จะให้การส่งเสริมการลงทุนไปยังกลุ่มเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีในระดับสูงขึ้น และมุ่งเน้นในเรื่องของการใช้ฐานความรู้ในประเทศเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนวิธีการสนับสนุนการลงทุนให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการให้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มมูลค่าในประเทศให้สูงขึ้น รวมทั้งเน้นการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยไปต่างประเทศ ให้มีโอกาสลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
สำหรับการประชุมฯ วันนี้ คณะกรรมการได้ให้ข้อคิดเห็นและหารือเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่กันอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของคณะกรรมการไปปรับปรุงใหม่ให้เรียบร้อย แล้วนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นหลักซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีการหารือร่วมกันนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ต้องการให้การส่งเสริมการลงทุนเน้นประเภทกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายของบีโอไอที่ได้มีการปรับประเภทกิจการส่วนใหญ่แล้ว รวมทั้งต้องการที่จะให้มีการส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมีการเชื่อมโยงกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย
ขณะเดียวกันก็ต้องการให้มีการลงทุนกิจการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนของ SMEs ซึ่งถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ขณะที่ คสช. ก็มีนโยบายที่จะผลักดันให้มีการส่งเสริมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และให้มีการเชื่อมโยงกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรมและบริการทั้งฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว การลักลอบขนสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรประเภทเดียวกันกับของประเทศไทยได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี อีกสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการได้เน้นคือ การพยายามให้ลดการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ให้น้อยลง เพราะประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องนำรายได้จากภาษีไปใช้ในการพัฒนาประเทศในอีกหลายด้าน เพราะฉะนั้น หากสามารถลดการสูญเสียภาษีเงินได้ก็จะทำให้มีเม็ดเงินที่จะสามารถไปลงทุนหรือพัฒนาประเทศในเรื่องอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็จะนำข้อคิดเห็นดังกล่าวของคณะกรรมการฯ ไปปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่แล้วนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมฯ พิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป