สมอ.ปรับกระบวนการร่นเวลาให้ มอก.เดินหน้าเคาะประตู SME-โอท็อปสร้างมาตรฐานสินค้าสู้ตลาดสากล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 21, 2014 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)เปิดเผยว่า สมอ.ปรับแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างความคล่องตัวในการให้บริการ โดยปรับกระบวนการตรวจสอบเพื่อร่นระยะเวลาให้อนุญาตมาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.)เหลือ 26 วัน จากเดิม 43 วัน พร้อมทั้งเดินหน้าโครงการ“เคาะประตูโรงงาน SMEs และร้านจำหน่าย"จูงใจผู้ประกอบการขอรับ มอก.ตั้งเป้าดึง SME-โอท็อปรับมาตรฐานเพิ่ม 5 พันรายภายในปีงบประมาณ 58

ทั้งนี้ สมอ.จะเปิดให้ภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมตรวจสมอมาตรฐานอุตสาหกรรม(IB) เพิ่มจากปีงบประมาณ 56 ที่มี 13 ราย เป็น 25 ราย รวมทั้งจะเพิ่มหน่วยตรวจสอบรับรอง(CB) แบ่งเป็นการเพิ่มห้องปฏิบัติการทดสอบจากเดิมที่มี 283 ราย เป็น 310 ราย และเพิ่มห้องปฏิบัติการสอบเทียบ จากเดิม 241 ราย เป็น 300 ราย ซึ่งจะช่วยให้การออกใบรับรองมาตรฐานต่างๆเร็วขึ้น

“สมอ.กำลังอยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ สมอ.ด้วยการสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง สมอ.จะปรับเปลี่ยนบทบาทมาสู่การกำกับดูแลใน 3 ด้าน ได้แก่ การกำหนดมาตรฐาน การออกใบอนุญาต และการตรวจติดตามผลหลังการอนุญาต โดยจะเร่งผลักดันให้มีการถ่ายโอนงานการรับรองผลิตภัณฑ์ให้แก่ CB และ IB ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น"นายอุฤทธิ์ กล่าว

หลังจากการกระจายงานไปสู่หน่วยตรวจสอบรับรองภาคเอกชนมากขึ้นแล้ว สมอ.จะวางแนวทางการพัฒนาในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติให้เป็นหน่วยงานสมรรถนะสูงในการเป็นผู้นำกำหนดมาตรฐานแห่งชาติ และมีบทบาทนำในการร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ทำหน้าที่รวบรวม วิเคราะห์มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ เพื่อให้ข้อแนะนำและชี้ช่องทางในการเข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายบทบาทของ สมอ.ในการเชื่อมอุตสาหกรรมไทยสู่สากลให้ได้ในระยะต่อไป

นอกจากนี้ จะเร่งรัดดำเนินการเพื่อสร้างการยอมรับใน มอก.ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมาย มอก.อย่างเต็มที่ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค การขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และเพิ่มปริมาณการค้าของไทยในเวทีโลก ท่ามกลางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ที่มีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายอุฤทธิ์ กล่าวว่า สมอ.ได้รับงบประมาณกว่า 730 ล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 54-57 เพื่อเป็นงบลงทุนนำไปซื้อเครื่องมือให้กับหน่วยทดสอบต่างๆ ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และอบรมเพื่อให้ความรู้กับโอท็อป เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไทยรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)

ในส่วนของการตรวจจับและป้องกันการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น สมอ.จะทำโครงการ“เคาะประตูโรงงาน SMEs และร้านจำหน่าย"เป็นมาตรการการเข้มงวดบังคับใช้กฏหมาย สมอ.เพื่อป้องกันการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานให้กับผู้บริโภค โดยจะเริ่มจากการฝึกอบรมเพิ่มเติมและแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อออกตรวจโรงงานและร้านจำหน่ายทั่วประเทศ นอกจากการตรวจจับกุมผู้ทำผิดกฏหมายแล้ว จะต้องจูงใจให้ผู้ประกอบการที่ทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าสู่กระบวนการสร้างมาตรฐานการผลิตสินค้าคุณภาพ ภายใต้เครื่องหมาย มอก.

สำหรับการตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในปีงบประมาณ 57 ได้ลงไปตรวจสอบติดตามผู้ที่ได้รับใบอนุญาต มอก. 2,142 ครั้ง จำนวน 1,970 ราย ตรวจสอบควบคุมสถานที่จำหน่าย 387 ครั้ง จำนวน 444 ราย โดยได้ยึดอายัดผลิตภัณฑ์ 60 ราย สูงกว่าปีงบประมาณ 56 ทั้งปีที่มียอดอายัด 34 ราย

ขณะที่อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน(โอท็อป) จะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ สมอ.จะให้การดูแลสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาต่อยอดให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งของตนเองและภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ โดยจะทำงานเชิงรุกเพื่อจูงใจให้โอท็อปขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.)มากขึ้นอีก 5,000 ราย ภายในปีงบประมาณ 58 จากปัจจุบันที่รับรองไปแล้ว 58,000 ราย สมอ.จะทุ่มเทงบประมาณ บุคลากร และร่วมทำงานกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเครือข่ายทั่วประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ