"มีกฎหมายหลายตัวต้องปรับแก้ หรือออกกฎหมายใหม่ คงต้องรอ คสช.พิจารณาก่อน แต่ในส่วนที่กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ ก็จะดำเนินการ แต่ยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบรายได้ประชาชน"นายรังสรรค์ กล่าว
นายรังสรรค์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังช่วงเช้าวันนี้ว่า เป็นการประชุมประจำเดือนเพื่อติดตามความคืบหน้าตามนโยบายที่ คสช.มอบหมายว่ามีการดำเนินการส่วนใดไปแล้ว และมีปัญหาอุปสรรคในส่วนใดบ้าง
นอกจากนี้ คสช.ยังได้สอบถามมายังกระทรวงการคลังว่าสามารถขยายวงเงินการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ หลังจากพันธบัตรวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทที่ออกมาล่าสุดสามารถขายหมดในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)อยู่ระหว่างพิจารณาวัตถุประสงค์การใช้วงเงิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงต้องดูความเหมาะสมของตลาด
นายรังสรรค์ ยอมรับว่าแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 57 ของ 3 กรมจัดเก็บรายได้ คงจะต่ำกว่าเป้ารวมกันประมาณ 1.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กรมสรรพากร คาดว่าต่ำเป้าไม่เกิน 1 แสนล้านบาท กรมสรรพสามิต ต่ำเป้าไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท และกรมศุลกากร ต่ำเป้าไม่เกิน 1.1 แสนล้านบาท
"การจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าจะกระทบยอดรายได้และอาจมีผลต่อเงินลงทุนในอนาคตบ้าง แต่ในส่วนนี้ คสช. มอบหมายให้ กสทช. นำส่งเงินเข้าคลัง 5 หมื่นล้านบาท และ สศค.ให้ บบส.นำส่งรายได้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือไม่น่าจะมีผลกระทบมาก เพราะมีเงินคงคลัง 3.8 แสนล้านบาท รองรับการใช้จ่ายในอนาคตได้เพียงพอ"นายรังสรรค์ กล่าว
ส่วนการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ คาดว่าจะจบทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้