ส่วนโครงการลดต้นทุนโลจิสติกส์สำหรับผู้ส่งออก รุ่นที่ 6 ประจำปี 57 นั้น กรมฯ ได้ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการอีก 30 ราย ให้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์การค้าในรอบ 1 ปี ได้ไม่น้อยกว่า 3% โดยเน้นการปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์และห่วงโซ่การผลิต(ซัพพลายเชน) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกิจกรรมตลอดระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งจะมีการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้และเทคนิคใหม่ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการต้นทุนโลจิสติกส์การค้า ควบคู่กับการประเมินสภาพปัญหาในการทำงานอย่างเป็นระบบ และการให้คำปรึกษาและปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ณ สถานประกอบการ
ทั้งนี้ กรมฯได้ดำเนินโครงการลดต้นทุนโลจิสติกส์สำหรับผู้ส่งออก ตั้งแต่ปี 52-56 มีบริษัทเข้าร่วมโครงการฯ 117 ราย สามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์การค้าได้กว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินโครงการในปี 56 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 15 ราย สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้กว่า 193 ล้านบาท
"การดำเนินโครงการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ถือเป็นนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งได้ให้ความสำคัญที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนโลจิสติกส์การค้า ซึ่งกรมฯ จะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้การส่งออกไทยมีศักยภาพการแข่งขันได้มากขึ้น" นางนันทวัลย์ กล่าว
ด้านน.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ DBD ISO-LOGISTICS AWARD ประจำปี 57 ว่า กรมฯ ได้จัดทำโครงการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์สู่มาตรฐานสากล ISO เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวของไทยมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพมาตรฐานทัดเทียมสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าเสรีอย่างยั่งยืน
อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 2 (2556–2560) โดยได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 53 จนถึงปัจจุบัน มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทยผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO แล้ว 187 ราย ส่วนในปี 57 มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO และได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากกรมฯแล้ว 35 ราย
"ปัจจุบันธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจบริการที่ไทยเร่งรัดเปิดเสรี ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และตั้งแต่ปี 56 ผู้ประกอบการในอาเซียนสามารถถือหุ้นในประเทศสมาชิกได้ 70% ทำให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติเริ่มรุกคืบเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยมากขึ้น ดังนั้นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 ซึ่งหากผู้ให้บริการของไทยไม่พัฒนาศักยภาพมาตรฐานการให้บริการทัดเทียมระดับสากล อาจตกขบวน AEC คือไม่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมมากกว่าได้" น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว
ทั้งนี้ ธุรกิจด้านการให้บริการโลจิสติกส์ ประกอบด้วย ธุรกิจให้บริการขนส่ง-ขนถ่ายสินค้า, ธุรกิจให้บริการคลังสินค้า, ธุรกิจตัวแทนออกของผ่านพิธีการทางศุลกากร และธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยล่าสุด วันที่ 31 พ.ค.57 มีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ทั้งสิ้น 18,518 ราย เพิ่มขึ้น 2,518 รายจากปี 56 ที่มี 16,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 15.74% และมีทุนจดทะเบียนรวม 297,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63,982 ล้านบาท จากปี 56 ที่มี 234,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.34%