ที่ประชุมคสช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย-พ.ร.บ.ประกันชีวิต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 22, 2014 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ประชุมได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฯ ในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวกับโครงสร้างบริษัทผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทประกันภัยเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของธุรกิจประกันภัย รวมทั้งแก้ไขให้มีการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัยและกองทุนประกันชีวิตเพื่อให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ปรับปรุงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทประกันภัย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจประกันภัย โดยแก้ไขคำนิยามลักษณะการถือหุ้นของนิติบุคคลให้เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551

2. กำหนดให้กองทุนประกันวินาศภัยและกองทุนประกันชีวิตสามารถจ่ายเงินเบื้องต้นจำนวนไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้กับเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยได้ทันท่วงที กรณีที่เกิดการเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัย

3. กำหนดให้กองทุนประกันวินาศภัยและกองทุนประกันชีวิตสามารถสวมสิทธิแทนเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยในการขอรับหนี้คืนเท่ากับจำนวนเงินที่กองทุนได้จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัย และให้อำนาจกองทุนเป็นผู้ชำระบัญชีได้

4. เพิ่มอำนาจให้กองทุนประกันวินาศภัยและกองทุนประกันชีวิตสามารถกู้เงิน ออกตั๋วเงิน หรือออกตราสารทางการเงิน หากมีเงินไม่เพียงพอในการจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัย

5. เพิ่มบทกำหนดโทษคณะกรรมการบริษัทกรณีที่ไม่ส่งมอบบัญชีและเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งหมดของบริษัทให้แก่ผู้ชำระบัญชีภายในเจ็ดวัน ทั้งนี้ เพื่อให้การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย และผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัย โดยประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการคุ้มครองให้ได้รับเงินเบื้องต้นรวดเร็วขึ้นเมื่อบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัติฯ ทั้ง 2 ฉบับ

นอกจากนี้ การปรับปรุงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทประกันภัยให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับกฎหมายของธุรกิจสถาบันการเงินจะทำให้เกิดความสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน อันจะช่วยส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยไทยมีความเข้มแข็งทางการเงิน และเสริมสร้างให้ธุรกิจการประกันภัยไทยมีความมั่นคงมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ