"ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนมิถานายนฟื้นติดต่อเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังกังวลไทยถูกลดระดับ Tier 3 หวั่นกระทบส่งออก" นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เกิดจากผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การยกเลิกการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว ทำให้ภาพรวมของการดำเนินกิจการมีความสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับอยู่ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้คำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ประเภทเสื้อผ้ากีฬา รองเท้ากีฬา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการที่ประเทศไทยถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่ที่ระดับ Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯและอียูลดลงตามไปด้วย
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 101.0 ในเดือน พ.ค.เนื่องจากการเพิ่มขึ้นจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเช่นกัน
ขณะที่ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือน มิ.ย.นี้ คือ เร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และสร้างความเข้าใจกับประเทศคู่ค้า เพื่อลดผลกระทบด้านการส่งออก กรณีสหรัฐฯ ออกประกาศลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในระดับ Tier 3 อีกทั้งให้หน่วยงานภาครัฐเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการในการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ รวมถึงเร่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง ถนน และท่าเรือ เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของ AEC รวมทั้งปรับปรุงระเบียบและขั้นตอนการขอใบอนุญาตและพิธีการ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชน