"2 เดือนที่มี คสช.ทุกอย่างราบรื่นดี การเมืองเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะนักลงทุนจะเลือกลงทุนในประเทศใดก็ตาม จะคำนึงถึงความมีเสถียรภาพทางด้านการเมือง ความสงบสุข"นายสุพันธ์ กล่าว
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น ประเมินว่าช่วงที่เหมาะสมของค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ 31.50-32.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งระดับตอนนี้ผู้ส่งออกยังรับได้ แต่ก็ต้องจับตาดู และคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะจับตาดูอยู่แล้ว ขณะที่ประเมินตัวเลขส่งออกปีนี้ยังน่าจะเติบโตได้ราว 3-5% ตอนนี้ส่งออกยังโตต่อเนื่องโดยเฉพาะรถยนต์
"เราเคยแข็งค่ามากกว่า 31.50 บาท/ดอลลาร์ แต่อาจจะทำให้การส่งออกลำบาก แต่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ก็คิดว่ากำลังดี Export คงอยากได้ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งที่ผ่านมาเวลาส่งออกเรามักจะพูดถึงในรูปของ US ดอลลาร์ ถ้าคิดเป็นในรูปของเงินบาทที่ผ่านมาเราส่งออกได้เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ถ้าเงินบาทแข็งค่าแบบตอนนี้อาจจะทรงตัวหรือติดลบนิดหน่อย แต่คิดว่าเมื่อถึงปลายปีการส่งออกคงจะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้คือโต 3-5%"นายสุพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่ยังเหลืออยู่ตอนนี้คือ Tier 3 แต่ไทยส่งออกรถยนต์ไปตลาดสหรัฐฯ น้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยจึงไม่น่าจะกระทบ แต่อาจจะกระทบในส่วนของอุตสาหกรรมประมงมากกว่า แต่จากความพยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้ของประเทศไทย ทั้งโรดแมพ มาตรการต่างๆที่ภาคเอกชนได้นำเสนอให้ คสช.พิจารณาทำให้ปัญหานี้คลายความกดดันลงไปมาก ส่วนตลาดยุโรปจากที่คิดว่าน่าจะกระทบจากเรื่อง GSP ก็กลายเป็นว่าส่งออกได้มากขึ้นจาก 7% เป็น 10% จึงคิดว่าปีนี้ตลาดยุโรปดีกว่าปีที่แล้วแน่นอน
ส่วนภาวะเศรษฐกิจปีนี้คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% โดยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะโตได้ถึง 4-5% จากงบการลงทุนภาครัฐทยอยออกมา โครงการส่งเสริมลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และเศรษฐกิจประเทศแข็งแรงขึ้น สังเกตได้ว่าสินค้าอุปโภคบริโภคดีขึ้น ตลาด Retail เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน "เดิมทีเราประเมินจีดีพีปีนี้ไว้ไม่เกิน 2% ตั้งแต่ก่อนมี คสช.เข้ามา เราคิดว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น บรรยากาศเริ่มดี เศรษฐกิจประเทศเริ่มแข็งแรงขึ้น"
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวเสริมว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ภาคเอกชนทำงานร่วมกับ คสช.ได้อย่างราบรื่น หลายเรื่องที่ภาคเอกชนได้นำเสนอไปก็ได้รับการตอบรับด้วยดี อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ อีกหลายเรื่องที่ยังรอการแก้ไข ซึ่งภาคเอกชนจะพยายามทำงานอย่างต่อเนื่อง
"อะไรที่มีปัญหาเรานำเสนอไปก็ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว แต่เรากำลังพยายามดูเรื่องกฎหมายที่ยังล้าหลังต้องได้รับการควบคุมดูแล เราก็เสนอตัวไปยัง คสช.ขอเข้าไปมีส่วนร่วมในกฎหมายที่จะเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้รับการตอบรับว่าจะให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยก่อนที่จะเสนอเข้า สนช.ด้วย"นายสุพันธ์ กล่าว