สำหรับ 4 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ได้แก่ การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร, การชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งกระทบชัดเจนต่อสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์, การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ โดยมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรถอีโคคาร์ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่ารถประเภทอื่นๆ และ การสูญเสียความนิยมของสินค้าอิเลคทรอนิคส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสินค้าเทคโนโลยีล้าสมัยมีสัดส่วนอย่างน้อย 7% ของการส่งออกไทยทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี 57 และจะขยายตัวได้ในระดับ 1%
"การส่งออกไทยเราเป็นตัวหลักที่ช่วย GDP ของประเทศมีการเติบโต โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 50% ของ GDP ที่เราประเมินการขยายตัวแค่ 1% นั้น เพราะว่าประเทศเรายังมีปัญหาด้านโครงสร้างอยู่ โดยปัจจัยหลักเป็นราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำต่อเนื่อง เทรนด์ก็ยังตกต่ำต่อไปอีก อีกทั้งตลาดที่เราส่งออกไปมีปัญหาชะลอตัว และปัญหาที่ส่งผลมากในระยะยาวคงเป็นด้านการผลิตสินค้าอิเลคทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์ของประเทศเราที่สินค้าที่เราผลิตเริ่มล้าสมัยแล้ว และเรายังไม่จับเทรนด์ของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยมองว่าการแก้ปัญหานี้เราต้องหาโมเดิร์นเทคโนโลยีเข้ามา ถึงแม้ว่าเราจะทำสายไปเพื่อมาทดแทนการผลิตสินค้าแบบเดิมที่ล้าสมัยไปแล้ว ส่วนเรื่องเครื่องจักรเก่าๆนั้นเราต้องหาวิธีการค่อยๆผลักดันออกไป เพราะการแก้ปัญหานี้จะช่วยได้ในระยะยาว"น.ส.สุทธาภา กล่าว
ขณะที่ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเป็น 33 บาท/ดอลลาร์ ถึงแม้ว่าในระยะที่ผ่านมาค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจากเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศที่ดีขึ้น แต่ SCB EIC ประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เร็วกว่าการคาดการณ์เดิม, อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่มีแนวโน้มคงอยู่ที่ 2% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และเป็นระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคพอสมควร และ การส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เพียงเล็กน้อย และไม่ช่วยดุลการค้ามากนัก
สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า จะขยายตัว 1.6% โดยเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศชดเชยการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม โดยปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย คือ สถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ส่งผลให้การเมืองมีความชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชน ประกอบกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของภาครัฐ รวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ และการช่วยเหลือภาคเกษตรกรผ่านการจ่ายคืนค่าจำนำข้าวให้กับเกษตรกรและแนวทางในการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ผ่านการให้สินเชื่อต่างๆ
ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ การบริโภคที่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังมีแรงกดดันด้านรายได้และภาระหนี้ภาคครัวเรือน รวมไปถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในด้านความโปร่งใส แต่อาจส่งผลให้การลงทุนภาครัฐในบางส่วนมีความล่าช้า