ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะช่วยงานด้านบริหารที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ให้สามารถอัพเดทข้อมูลการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ราชพัสดุได้ว่ามีสิ่งปลูกสร้างใดบ้าง หรือมีใครเข้าไปทำประโยชน์บนที่ราชพัสดุอย่างไรบ้าง ทำให้กรมสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ของที่ราชพัสดุให้คุ้มค่าและเหมาะสมและจัดให้ใช้ประโยชน์และทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ราชพัสดุได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐ รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินราคาทรัพย์สิน โดยช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ให้การประเมินราคาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นด้วย
สำหรับระบบที่พัฒนาขึ้นดังกล่าว ทำให้กรมฯ สามารถให้บริการออนไลน์แก่ส่วนราชการและประชาชนทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น ผ่านระบบ GIS เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลที่ราชพัสดุ ระบบบริหารผู้เช่าและผู้ใช้ที่ราชพัสดุผ่านเว็บไซด์ ระบบเผยแพร่ราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสามารถสืบค้นและแสดงผลของข้อมูลราคาประเมินที่ดินรายแปลง รายบล็อกด้วย
นายนริศ ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ฝ่ายนโยบายได้มอบหมายให้กรมฯ พิจารณาปรับแนวทางการประเมินราคาที่ดินจาก 4 ปี เป็น 1 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องความเป็นจริงมากที่สุด แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครก็ได้เข้ามาหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการใช้ข้อมูลราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนฐานราคาประเมินเดิมที่เคยใช้อยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลเก่าเมื่อปี 2521
ทั้งนี้ หากกรุงเทพมหานครมีการใช้ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์จะมีผลดีในแง่ของอัตราภาษีที่สูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ก็กังวลว่าอาจจะกระทบและกลายเป็นภาระกับประชาชนได้ ก็คงต้องหารือเรื่องนี้ในรายละเอียดต่อไป
"ตอนนี้มีประเด็นว่า หากฝ่ายนโยบายมีการใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็จะส่งผลให้กรุงเทพมหานครและส่วนท้องถิ่นต่างๆ ต้องหันมาใช้ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์แทนฐานข้อมูลเดิมเมื่อปี 2521 ที่ใช้อยู่ก็จะได้ราคาประเมินที่สอดคล้องกับปัจจุบัน และส่งผลดีต่อรายได้ของท้องถิ่นด้วย" นายนริศ กล่าว