"กลุ่มตัวอย่าง 74.8% ระบุว่า มีหนี้ ขณะที่ 25.2% ระบุว่าไม่มีหนี้ โดยหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 219,158 บาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการสำรวจมาเมื่อ 9 ปีที่แล้ว หรือตั้งแต่ปี 49 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 16.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีเฉลี่ย 188,774 บาท โดยเป็นหนี้ในระบบ 51% และหนี้นอกระบบ 49% มีการผ่อนชำระเดือนละ 13,358 บาท สาเหตุการก่อหนี้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นผลของการเล่นพนันบอลในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก เป็นต้น" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่า ยังมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้มีมากขึ้น เพราะคนเข้าถึงแหล่งเงินยาก จากการที่แบงก์เข้มงวดการปล่อยกู้ ทำให้ต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้หนี้ ขณะที่คนที่มีบัตรเครดิตจะรูดจนเต็มวงเงิน ชาวนาที่ได้เงินค่าจำนำข้าวไป 90,000 ล้านบาท ก็นำไปใช้หนี้ และเหลือใช้บางส่วน ทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวช้า
สำหรับการสำรวจถึงระยะเวลาที่คนเริ่มเป็นหนี้ พบว่า ช่วงปี 55-56 ผู้ตอบมีหนี้ถึง 36.7% ช่วงปี 53-54 มีหนี้ 20.8% และช่วงปี 57 มี 18.5% โดยแหล่งเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นอันดับแรกคือ นายทุน เพิ่มขึ้น 45% รองลงมา ธนาคารของรัฐ 32.1% โรงรับจำนำ 31.1% ธนาคารประชาชน 28.6% ส่วนวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน ผู้ตอบ 40% ระบุใช้ในชีวิตประจำวัน แต่อันดับสอง 17.1% นำไปชำระเงินกู้นอกระบบ แม้จะมีสัดส่วนลดลงจากปีก่อนที่มีผู้ตอบ 19.7% แต่ถือว่ายังมีอัตราสูง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้สำรวจพฤติกรรมและผลกระทบจากมหกรรมฟุตบอลโลก โดยก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก ผลสำรวจพบว่า 63% คนระบุว่า ไม่เล่นพนันเลย แต่หลังการแข่งขัน พบว่า 70% ที่ไม่เล่นพนันเลย ส่วนเม็ดเงินที่จะสะพัดก่อนบอลโลกจะมีถึง 43,530 ล้านบาท แต่หลังบอลโลกมีเพียง 30,501 ล้านบาทเท่านั้น หรือลดลง 13,000 ล้านบาท จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอาจริงกับการปราบปรามการพนัน ทำให้พบว่า 99% ระบุว่าไม่มีหนี้เพิ่มขึ้นหลังบอลโลก มีเพียง 1% เท่านั้นที่บอกว่าหนี้เพิ่มขึ้น
"แนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ภาครัฐควรดึงลูกหนี้ให้มาอยู่ในระบบ เพื่อลดปัญหาสังคม พร้อมทั้งเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบให้มากขึ้น โดยเฉพาะงบประมาณในโครงการต่างๆ ที่ยังไม่ได้นำมาใช้จ่าย คาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และภาครัฐต้องดูแลค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดการก่อหนี้นอกระบบ เพราะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำมักกู้เงินนอกระบบเพิ่มขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว