ทั้งนี้ ขณะนี้กรมยังสามารถรักษาระดับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจได้ โดยล่าสุดแนวโน้มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการอุปโภคบริโภคในประเทศ ในช่วงเดือน ก.ค. 2557 ดีขึ้นกว่าเป้าหมายราว 1.7% ทำให้เชื่อว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในช่วงที่เหลือของปีจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
“ตอนแรกกรมสรรพากรประเมินว่าจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า 1 แสนล้านบาทนั้น เป็นผลมาจากแรงกดดันจากปัญหาการเมืองที่ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มความถี่ของขั้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 5 เป็น 7 ขั้น ซึ่งทำให้การจัดเก็บภาษีในส่วนนี้หายไปถึง 4 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท และการจัดเก็บภาษี VAT จากการนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2557 หายไปอีกราว 4.8 หมื่นล้านบาท รวมถึงผลกระทบจากการลดอัตราภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ด้วย แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและแนวโน้มการจัดเก็บภาษีของกรมด้วย" นายประสงค์ กล่าว
นอกจากนี้ ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ กรมสรรพากรได้เชิญสำนักงานบัญชีกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ที่มีลูกค้าในมือเกินกว่า 30 ราย มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจ และชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ในการจัดทำบัญชีให้ลูกค้าโดยเฉพาะในส่วนของการประเมินผลการดำเนินงานในปี 2557 ที่จะใช้ในการคำนวณภาษีให้อยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องและเป็นจริงมากที่สุด โดยหลักการเบื้องต้นจะต้องมีการประเมินผลการดำเนินงานไม่ต่ำกว่าผลการดำเนินงานจริง 25% เพราะหากผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด กรมสรรพากรจะต้องดำเนินการเรียกเก็บเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 20% ของภาษีที่บริษัทจะต้องชำระ โดยเชื่อมั่นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในส่วนนี้จะส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีในระยะต่อไปด้วย
สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2558 กรมฯ จะดึงระบบไอทีเข้ามาช่วยในการควบคุมให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษีให้มากขึ้น โดยประชาชน หรือบริษัท ห้างร้านที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี จะต้องเข้าระบบให้ถูกต้องมากที่สุด รวมถึงจะเร่งเพิ่มเข้าเข้าใจกับผู้เสียภาษีให้มากขึ้นด้วย โดยเบื้องต้นประเมินว่ายอดการจัดเก็บภาษีในช่วงไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 2558 (ต.ค. – ธ.ค. 57) น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศดีขึ้น ทำให้ภาพการค้า การลงทุนและการใช้จ่ายต่าง ๆ กลับมาเป็นบวก